ก็เพราะว่าทุก ๆ วันนี้ อาหารแปรรูปมีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวัน ของประชากรทุกหย่อมหญ้า อุปกรณ์ที่เคียงข้างครัวเรือนยุคใหม่ จึงยากที่จะหลีกเลี่ยง -เตาไมโครเวฟ- เพราะถือว่าเป็นอุปกรณ์สำคัญในการอุ่นอาหารให้พร้อมรับประทาน สำหรับบางคน ที่ยังเคลือบแคลงเรื่องภาชนะ ที่ใช้สำหรับการเตรียมอาหาร ก็คงต้องใช้ภาชนะแก้ว หรือ เซรามิก ไปก่อน แต่ก็นั่นแหล่ะครับ มันจะกลับกลายเพิ่มขั้นตอนในการอุ่น แทนที่จะช่วยในการประหยัดเวลา เพราะไหนจะต้องเปลี่ยนภาชนะ และ ต้องมาเก็บล้างในภายหลัง มันก็จะนุงนังไปเสียหมด
แต่ที่เราพบเห็นได้บ่อย ๆ ตามร้านสะดวกซื้อ หรือว่าที่ไหน ๆ ภาชนะที่ใช้อุ่นกันก็มักจะเป็นพลาสติก ซะส่วนใหญ่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า พลาสติกทุกประเภทนั้นจะสามารถนำไปใช้กับไมโครเวฟได้ทั้งหมด เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจึงอยากจะให้ท่านผู้อ่านมาลองทำความเข้าใจเกี่ยวกับ -บรรจุภัณฑ์พลาสติก- ให้ลึกซึ้งกว่าเดิมกัน
เนื่องจากว่าการใช้งานพลาสติกผิดประเภทอาจจะนำมาซึ่งพิษภัย ยิ่งเกี่ยวกับของกินก็ยิ่งต้องระมัดระวังครับ
หากว่าท่านจะเคยสังเกต เหล่าบรรดาบรรจุภัณฑ์ที่ด้วยพลาสติก ก็คงจะได้เห็น.. สัญลักษณ์รูปสามเหลี่ยม ที่ประกอบไปด้วยลูกศรชี้วน ซึ่งภายในกรอบลูกศรนั้น ก็จะมีตัวเลขให้เห็นอยู่อย่างชัดเจน ซึ่งมีตั้งแต่ 1 ถึง 7
ซึ่งสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกของสหรัฐฯ (The Society of the Plastics Industy,Inc.) .ได้กำหนดไว้
ในส่วนของความแตกต่างของพลาสติก ที่มีตัวเลขบอกค่าเอาไว้ ก็จะมีดังต่อไปนี้
เลข 1 พอลิเอทธิลีนเทเรฟธาเลท (Polyethylne Terephthalate) หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า เพ็ท (PET หรือ PETE)
เป็นพลาสติกใส แข็ง ทนแรงกระแทกได้ดี ไม่แตกง่าย กันแก๊สซึมผ่านได้ดี จึงนิยมใช้ทำขวดบรรจุน้ำดื่ม ขวดน้ำมันพืช
เลข 2 พอลิเอธิลีนความหนาแน่นสูง (High Density Polyethylene) เรียกแบบย่อว่า เอชดีพีอี (HDPE)
มีคุณสมบัติเหนียวและแตกยาก มีลักษณะแข็งแต่ยืดได้ ทนทานต่อสารเคมี และสามารถขึ้นรูปทรงต่าง ๆ ได้
มักนิยมใช้ทำขวดนม ขวดน้ำ แล ะบรรจุภัณฑ์สำหรับน้ำยาทำความสะอาด อย่างเช่น ยาสระผม น้ำยาล้างจาน
เลข 3 พอลิไวนิลคลอไรด์ (Polyvinylchloride) หรือ พีวีซี (PVC) สัญลักษณ์ V
นิยมใช้ในอุตสาหกรรมการทำท่อน้ำประปา สายยางใส แผ่นฟิล์มสำหรับห่ออาหาร
หรือ แผ่นพลาสติกที่ใช้ทำประตู หน้าต่าง (ที่เรากันติดปากว่าบาติก) และหนังเทียม
เลข 4 พอลิเอทิลีน ความหนาแน่นต่ำ (Low Density Polyethylene) หรือ LDPE
เป็นพลาสติกที่มีความนิ่ม เหนียว ยืดตัวได้มาก ใส ทนทาน แต่ไม่ทนต่อความร้อน
ใช้ทำ.. ฟิล์มห่ออาหาร และ ห่อของ ถุงใส่ขนมปัง ถุงเย็นที่ใช้สำหรับบรรจุอาหาร
เลข 5 พอลิโพรพิลีน (Polypropylene) หรือเรียกอย่างย่อว่า พีพี (PP) เป็นพลาสติกที่มีความใส
ทนต่อความร้อน คงรูป เหนียว และทนแรงกระแทกได้ แถมยังทนต่อสารเคมีและน้ำมัน ใช้ทำภาชนะ
ที่บรรจุอาหาร เช่น กล่อง ชาม จาน ถัง ตะกร้า กระบอกใส่น้ำแช่เย็น ขวดซอส แก้วโยเกิร์ต ขวดบรรจุยา
เลข 6 พอลิสไตรีน (Polystyrene) หรือที่เรียกแบบย่อว่า พีเอส (PS) เป็นพลาสติกที่มีความใส
แต่เปราะและแตกง่าย ใช้ทำภาชนะต่างๆ อย่างเช่นแก้วพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง ถาดใส่ไข่ หรือโฟมใส่อาหาร
และสุดท้ายก็คือ เลข 7 ซึ่งไม่ได้มีการระบุชื่อเฉพาะเจาะจงเอาไว้ จึงมีตัวอักษรขึ้นว่า OTHER
เป็นพลาสติกชนิดอื่น นอกเหนือจาก 6 ชนิดข้างต้น แต่เป็นพลาสติกที่สามารถนำมาหลอมใหม่เพื่อรีไซเคิลได้
พลาสติกที่เข้าไมโครเวฟได้อย่างปลอดภัย ก็คือพลาสติกประเภท หมายเลข 5 ซึ่งก็คือ พอลิโพรพิลีน (Polypropylene) หรือ PP เท่านั้น ส่วนพลาสติกหมายเลข 1 , 2 และ 4 สามารถนำเข้าไมโครเวฟได้ก็ต่อเมื่อ มีสารที่ช่วยป้องกันความร้อนและการหลอมละลาย และ สามารถนำเข้าเตาไมโครเวฟเพื่อให้อาหารพออุ่นเท่านั้น ไม่เหมาะกับลักษณะใช้งานด้วยการอุ่นด้วยความร้อนที่สูง นอกจากนี้แล้ว ท่านสามารถสังเกตได้จากสัญลักษณ์ “microwave safe” โดยจะมีลักษณะเหมือนตู้ไมโครเวฟ ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อการนี้.ครับ