แนวคิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ หรือ PLC (Professional Learning Community) เป็นการทำงานแบบร่วมมือรวมพลังของครูและผู้อำนวยการโรงเรียนเพื่อดำเนินงานให้สำเร็จตามเป้าหมาย โดยเป็นหนึ่งในนโยบายที่กระทรวงศึกษาธิการมอบหมายให้สถานศึกษานำกระบวน การ PLC ไปใช้ในการการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพของนักเรียนให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด แนวคิดนี้ยังเป็นประเด็นที่ บริษัท ปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ผู้จัดงานมหกรรมทางการศึกษาเพื่อพัฒนาวิชาชีพครู (EDUCA) ให้ความสำคัญ และนำไปเป็นหัวข้อเวิร์คชอปงาน EDUCA หลายครั้ง รวมถึงเป็นประเด็นของการอบรมในกลุ่มผู้อำนวยการผู้นำ (Thailand Principals Forum: TPF) ผ่านงานสัมมนา “ถอดบทเรียนความสำเร็จในการใช้ PLC ยกระดับคุณภาพของเด็กไทย” ซึ่งจัดขึ้นที่สามย่านมิตรทาวน์เมื่อเร็วๆ นี้
“กระทรวงศึกษาธิการมอบหมายให้ทุกโรงเรียนทำ PLC แต่คำว่า PLC ของแต่ละแนวคิดหรือแต่ละสำนักไม่เหมือนกัน ซึ่งไม่มีใครผิด จะทำแนวทางไหนก็ได้ สำคัญอยู่ที่ว่าต้องมีจุดมุ่งหมายว่าต้องการแก้ปัญหาอะไร ในส่วนของกลุ่ม TPF เราต้องการยกระดับคุณภาพของเด็กทุกคน และยกระดับคุณภาพห้องเรียน ดังนั้น PLCของเราจึงลงไปถึงห้องเรียนที่ส่งเสริมให้เด็กทุกคนช่วยเหลือซึ่งกันและกันผ่านการเรียนเป็นกลุ่มที่คละระหว่างเด็กเก่ง เด็กเรียนได้ดีปานกลาง และเด็กอ่อน เพื่อเกิดการดูแลและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปด้วยกัน ซึ่งต้องทำให้เกิดเป็นนิสัยที่ติดตัวไปตลอด เพราะเป็นทักษะชีวิตที่ต้องนำไปใช้กับการทำงานด้วย” รศ.ลัดดา ภู่เกียรติ ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตพัฒนาและประธานกลุ่ม TPF ให้ความคิดเห็นต่อแนวทาง PLC ในไทย โดย TPF เป็นกลุ่มผู้อำนวยการโรงเรียนที่รวมตัวกันเพื่อขับเคลื่อนการศึกษาของไทยผ่านการสนับสนุนของ บมจ. ปิโก (ไทยแลนด์) ซึ่งที่ผ่านมาได้จัดกิจกรรมประชุมและสัมมนาให้กับครูและผู้อำนวยการในประเด็นต่างๆ ทั้งนั้น TPF มองว่า PLC เป็นเครื่องมือที่สามารถแก้ปัญหาการศึกษาไทยและปฏิรูปโรงเรียนให้เข้มแข็งได้ เพราะนักเรียนจะได้รับการดูแลจากครูอย่างเสมอภาคและทั่วถึง “โรงเรียนจะเปลี่ยนแปลงได้ก็ต่อเมื่อมีการขยับไปทั้งองคาพยพ ดังนั้น ผู้บริหารหรือผู้อำนวยการโรงเรียนต้องเข้าใจเรื่อง PLC อย่างถ่องแท้ และต้องเปลี่ยนตัวเองก่อนไปปรับกลุ่มครูให้พวกเขาปรับการสอนจากเดิมที่ต่างคนต่างสอนมาเป็นการจับคู่บัดดี้กันของเพื่อนครู แล้วช่วยกันปรับหรือหาแผนการสอนที่เหมาะสมกับผู้เรียนให้ได้มากที่สุด ซึ่งการดำเนินงานตามแนวคิด PLC จะทำให้ครูเปลี่ยนการเรียนการสอนในห้องเรียนที่สามารถทำให้นักเรียนทุกคนได้รับความรู้อย่างเท่าเทียม”
ตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและประสบความสำเร็จจากการนำแนวคิด PLC ไปใช้คือการพลิกโฉมโรงเรียนเมืองกระบี่ จากเดิมเป็นโรงเรียนที่ประสบปัญหาและขาดแคลนในหลายเรื่องมาเป็นโรงรียนอันดับต้นๆ ของจังหวัด ที่ผู้ปกครองเลือกส่งลูกหลานเข้าเรียนต่อ เพราะนักเรียนมีการเรียนรู้และพฤติกรรมที่ดีขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดย ผอ.วสันต์ ปัญญา ผู้อำนวยการ ร.ร.เมืองกระบี่ บอกว่าผู้บริหารไม่ควรใช้การสั่งหรืออำนาจในการสร้างการเปลี่ยนแปลง แต่ต้องเริ่มจากการเปิดหัวใจเพื่อนครูให้เห็นถึงความสำคัญของ PLC ก่อนขยับไปสู่การปรับการสอน หลังจากนั้นเป็นการเปิดหัวใจนักเรียนผ่านกิจกรรมต่างๆ ซึ่งการทำโรงเรียนให้เป็นฐานการเรียนรู้ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับนักเรียนทั้งด้านวิชาการและเกิดพฤติกรรมเชิงบวกอีกด้วย “การทำ PLC ของเราเริ่มจากการจัดเวิร์คชอปให้กับเพื่อนครู โดยครูทุกคนต้องนำแผนการสอนมาดูข้อมูลร่วมกัน แล้วให้วางแผนการโค้ชชิ่งกันว่าในหนึ่งภาคเรียนจะมีการจับคู่กันอย่างไร ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะให้ครูต่างวิชาจับคู่กันเพื่อให้พวกเขาได้รับคำแนะนำจากมุมมองของคนที่สอนต่างกัน หลังจากนั้น เมื่อสอนจบในแต่ละเดือนจะมีการจัดประชุมเพื่อสรุปกิจกรรม ก็จะให้ครูทุกคนมาร่วมกันถอดบทเรียน เพื่อเป็นแนว ทางสำหรับการปรับการสอนต่อไป” กระบวนการ PLC นั้นเชื่อมโยงกับมิติทางสังคม เพราเป็นเหมือนการสร้างกิจกรรมที่ทำให้ครูได้ใช้เวลาด้วยกัน จากเดิมต่างคนต่างอยู่หรือต่างคนการสอน แต่การโค้ชชิ่งทำให้พวกเขาได้มาเจอกันบ่อยครั้งมากกว่าเดิม ได้ฝึกการเป็นผู้ฟังและผู้พูดที่ดี เสริมให้เกิดความเข้าใจกัน พร้อมทำงานเป็นทีมได้ รวมถึงส่งผลดีต่อปฏิสัมพันธ์ส่วนตัวที่ดีตามมา
สอดคล้องกับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับโรงเรียนสาธิตพัฒนา ซึ่ง ครูณัฐนันท์ ชาติสกุลศักดิ์ หัวหน้าระดับชั้นอนุบาล 1 โรงเรียนสาธิตพัฒนา บอกว่า การทำ PLC ทำให้ครูมีการพูดคุยอย่างเปิดใจมากขึ้น จากเมื่อก่อนที่อาจมีความเกร็งเมื่อเพื่อนครูมาสังเกตการสอน หรือวิจารณ์แผนการสอนของตน รวมถึงเป็นการพัฒนาความสัมพันธ์ของกลุ่มครู เพราะบางครั้งครูต่างวัยได้มาจับคู่เป็นโค้ชให้กัน ทำให้พวกเขามีการปรับตัว และเปิดกว้างทางความคิดในการฟังเสียงสะท้อนด้านการสอนจากคนที่มีประสบการณ์การสอนไม่เหมือนกัน ดังนั้น เมื่อมีเพื่อนครูมาช่วยแนะนำแผนการสอน ก็จะทำให้เกิดการปรับวิธีการสอนที่สอดรับกับการเรียนรู้ของเด็กได้อย่างเหมาะสม ซึ่งเด็กจะได้เจอกับกระบวนการสอนแบบ active learning ได้ลงมือทำ เกิดการเรียนรู้ ตั้งคำถาม และตอบคำถาม โดยครูอาจเริ่มจากการให้เด็กเรียนแบบเดี่ยวก่อนและเพิ่มปรับเป็นการเรียนแบบคู่ ก่อนที่จะขยายไปเป็นการเรียนเป็นกลุ่มสำหรับเด็กโต ซึ่งการเรียนรูปแบบนี้จะเสริมเรื่องการเข้าสังคมของเด็ก ขณะเดียวกัน การทำกิจกรรมกลุ่มบ่อยๆ เป็นเหมือนการสร้าง PLC ให้กับนักเรียนด้วย เพราะพวกเขาจะรับฟังกัน สังเกตว่าเพื่อนชอบหรือไม่ชอบสิ่งไหน และเกิดการยอมรับในที่สุด “ปีที่ผ่านมาเราเริ่มทำ symposium ในโรงเรียน โดยให้ครูทุกระดับมาร่วมพูดคุยกันว่าประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหนในการทำ PLC ซึ่งเป็นข้อมูลที่รวบรวมมาจากแต่ละระดับชั้น เพื่อให้เห็นภาพเล็กและภาพใหญ่ไปพร้อมกัน หลังจากประชุมกันแล้วจะมีการสรุปกันว่าแผนการสอนของปีหน้าจะเป็นอย่างไร ครูสามารถนำแผนที่ถูกปรับไปใช้ในปีการศึกษาถัดไปได้เลย โดยร.ร.สาธิตพัฒนาคาดว่าอีก 2-3 ปี เราจะมีแผนการสอนที่สมบูรณ์ ซึ่งเกิดจากการระดมความคิดของครูทุกคน เพื่อเป็นแนวทางให้กับครูในการไปปรับใช้กับแผนการสอนของตนเอง” การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้แสดงให้เห็นว่า PLC เป็นเหมือนวัฒนธรรมองค์กรในแง่ของการช่วยเหลือกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านการสอนหรือประเด็นอื่นๆ ซึ่งครูและผู้อำนวยการโรงเรียนก็จะช่วยกันคิดและหาวิธีแก้ไข ซึ่งในด้านหนึ่งถือว่าเป็นการสานความสัมพันธ์ที่ทำให้เกิดความเข้มแข็งในองค์กร พร้อมทั้งส่งผลเชิงบวกต่อการพัฒนาเด็ก ห้องเรียน และโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง