แม้ว่าวันนี้เรื่องของ “Coding” จะถูกผลักดันให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น แต่ก็ยังมี “คุณครู” อีกจำนวนไม่น้อยที่ยังขาดความรู้ ความเข้าใจ และความชำนาญ ด้วยเหตุนี้ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ในฐานะหนึ่งในหน่วยงานที่ร่วมขับเคลื่อนเรื่อง “Coding” จึงได้ดำเนินโครงการ Coding Thailand โดยจับมือกับ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และพันธมิตรสถาบันการศึกษาชั้นนำทั่วประเทศ 4 สถาบันประกอบด้วย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.), มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.), มหาวิทยาลัยบูรพา (ม.บูรพา) และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ในการพัฒนาคุณครูทั่วประเทศ ล่าสุดได้จัดกิจกรรม เวิร์คชอปชนิดเข้มข้นเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับบรรดาคุณครู ผ่านงาน มหกรรมทางการศึกษาเพื่อพัฒนาวิชาชีพครู หรือ EDUCA 2019 ที่จัดต่อเนื่องกันเป็นปีที่ 12 โดยในปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด พลังของชุมชน แห่งการเรียนรู้ (The Power of Learning Community) เมื่อเร็วๆ นี้ ณ อิมแพค ฟอรั่ม เมืองทองธานี
โดย ดร.รัฐศาสตร์ กรสูต รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) กล่าวว่า depa ได้มีโอกาสเข้าร่วมงาน EDUCA เป็นปีที่ 2 ซึ่งก็ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของงานอย่างชัดเจน โดยในปีนี้มีคุณครู ให้ความสนใจมาร่วมงานเพิ่มมากขึ้น สำหรับหัวข้อที่ทาง depa จัดขึ้นในครั้งนี้คือ “สนุกกับ Coding ง่ายๆ สไตล์วิทยาการคำนวณ” ในรูปแบบเวิร์คชอปเพื่อให้คุณครูเข้าใจง่าย และสามารถนำไปถ่ายทอดต่อให้กับนักเรียนได้ โดยมี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาหลักในการจัดทำเรื่องของ Coding มาเป็นผู้สร้างความรู้ ความเข้าใจ ให้กับคุณครูว่าเรื่องของ Coding ไม่ใช่เรื่องยาก เนื่องจากไม่ใช่รายวิชา แต่มันคือศาสตร์อย่างหนึ่งนั่นเอง ซึ่งเป็นความรู้เบื้องต้นที่สามารถผสมผสานกับวิชาใดๆ ก็ได้ “หัวใจสำคัญของการจัดเวิร์คชอปเรื่อง Coding คือ ทำอย่างไรให้ครูรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องใกล้ตัว เหมือนกับที่เราจับ มือถือมาดูไลน์ ดูเฟซบุ๊ก ไม่มีใครมาสอนเรา เรื่องของ Coding ก็เช่นกัน โดยหัวใจหลักๆ ของกิจกรรมนี้จะมีอยู่ 3 เรื่อง คือ 1.ทำอย่างไรให้สนุก อันนี้สำคัญที่สุดต้องทำให้สนุก ให้ครูมีความมั่นใจในการสอน พอครูมั่นใจบรรยากาศ ในการสอนก็จะสนุกสนาน 2.ทำอย่างไรให้การเรียนการสอนตอบโจทย์ตรงตามตัวชี้วัดของกระทรวงศึกษาธิการ สนุกแล้วก็ต้องตอบโจทย์สาระการเรียนรู้ที่เด็กจะต้องรู้ด้วย และ 3.ทำอย่างไรให้เด็กสามารถนำไปประยุกต์ใช้ ให้กลายเป็นนวัตกรรมเล็กๆ หรือโซลูชั่นที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ ทั้งนี้เมื่อนำทั้ง 3 ส่วนมารวมกัน ก็จะทำให้เด็กมีความคิดที่เป็นกระบวนการ มีตรรกะ มีความคิดสร้างสรรค์ มีแรงบันดาลใจในการสร้างสิ่งใหม่ๆ ให้สอดรับกับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21” ดร.รัฐศาสตร์ กล่าว
ด้าน ดร.ใหม่ เจริญธรรม ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายสารสนเทศ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า “สำหรับเวิร์คชอปที่นำมาร่วม ในงาน EDUCA เราได้นำกิจกรรมบางส่วนที่อยู่ในหลักสูตรการพัฒนาครูประถมศึกษาและมัธยมศึกษา เน้นที่ การสร้าง Active Learning โดยกิจกรรมที่เราหยิบมาใช้จะมีทั้งในส่วนของ Unplugged คือ Coding ที่ไม่ใช้เทคโนโลยีและ Plugged คือ Coding ใช้เทคโนโลยีร่วม โดยจะเน้นในส่วนของ Unplugged เป็นหลักและกิจกรรมของ Plugged บางส่วน เพื่อให้คุณครูสามารถเอาเทคนิคที่ได้ไปใช้สร้างสื่อการเรียนการสอนใหม่ได้ Coding ไม่จำเป็นต้องพึ่งเทคโนโลยีชั้นสูง หรือไม่ต้องมีเรื่องของเทคโนโลยีเลยก็ได้ เพราะ Coding เป็นเรื่องของกระบวน การคิด”
ล่าสุด กระทรวงศึกษาธิการ ได้เตรียมนำเรื่องของ “Coding” บรรจุเป็นหลักสูตร เพื่อให้เด็กไทยทั่วประเทศได้เรียนพื้นฐานการ Coding ที่มุ่งเน้นการคิดอย่างมีระบบและการมีความคิดสร้างสรรค์ รวมไปถึงความเข้าใจในภาษาดิจิทัล ทั้งนี้เพื่อต่อยอดไปสู่การเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อให้สอดรับกับศตวรรษที่ 21 ปัญหาของการศึกษาไทยในอดีตและปัจจุบัน คือ เน้นที่องค์ความรู้ เป็นหลัก แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป โลกกำลังเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 การศึกษาไทยจะยังคงมุ่งเน้นเรื่องขององค์ความรู้เพียงอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องมีการบูรณาการเรื่องของเทคโนโลยีเข้าไปด้วย “ครู” ซึ่งเป็นบุคลากรสำคัญในการสร้างอนาคตของชาติ จึงจำเป็นต้องพัฒนาและ เติมความรู้ให้ทันกับยุคสมัย