กรมวิชาการเกษตร ฉวยโอกาสในเดือนพระราชพิธีฯ แก้กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 ให้เป็นไปตามอนุสัญญา UPOV 1991 ซึ่งเอื้อประโยชน์ให้บรรษัทเมล็ดพันธุ์ เพิ่มการผูกขาดพันธุ์พืช และ ลงโทษเกษตรกรที่เก็บรักษาพันธุ์พืชไปปลูกต่อ นี่เป็นการทำลายวัฒนธรรม ที่สร้างความหลากหลายทางชีวภาพ และส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศ ในขณะที่การเคลื่อนไหว และ แสดงความคิดเห็นเพื่อคัดค้าน.ได้ถูกจำกัด
ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา เหล่าบรรดาบรรษัทข้ามชาติ และ บริษัทเมล็ดพันธุ์ยักษ์ใหญ่ ได้พยายามผลักดันให้ประเทศไทยของเรา ยอมรับระบบกฎหมายผูกขาดพันธุ์พืชตามระบบ UPOV1991 ทั้งๆทางตรงและทางอ้อม โดยผ่านการทำเอฟทีเอไทย-สหรัฐอเมริกา ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค และ ความตกลงเอฟทีเออาเซียน-ยุโรป เป็นต้น .ถึงแม้จะยังไม่ถึงขั้นประสบผลสำเร็จ แต่ก็อยู่ในช่วงเฝ้าระวัง จนห้ามกระพริบตา
ในช่วงรัฐบาลของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา กรมวิชาการเกษตร ได้พยายามผลักดัน การแก้กฎหมายนี้อีกครั้ง แต่ก็ยังถูกคัดค้าน จากนักวิชาการหลายๆฝ่าย เช่น รศ.จักรกฤษณ์ ควรพจน์ นักวิชาการจาก สถาบันทีดีอาร์ไอ รศ.สุรวิช วรรณไกรโรจน์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผศ.สมชาย รัตนชื่อสกุล จากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย รวมทั้ง นพ.มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่รู้ทันเรื่องสิทธิบัตรของบรรษัทข้ามชาติ ช่วงแรกดูเหมือนเรื่องเงียบหายไป โดยที่หลายฝ่ายคาดว่า จะไม่เกิดขึ้นซ้ำอีก ในรัฐบาลคณะนี้
===========================================================================
แต่แล้วจู่ๆก็อุบัติขึ้นอีก โดยที่ไม่ได้มีการแถลงใดๆอย่างเป็นทางการต่อสาธารณะ จากพลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือ นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ว่าจะมีการแก้ไขกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช ซึ่งทางเว็บไซท์ กรมวิชาการเกษตร ได้เผยแพร่ เรื่องการร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. ….ฉบับใหม่ขึ้น และให้มีการยกเลิกพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 ทั้งฉบับ
โดยเปิดให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น ได้จนถึงวันที่ 20 ตุลาคม 2560 ที่จะถึงนี้เท่านั้น แสดงเจตนาว่า เป็นการจงใจเลือกช่วงเวลาระหว่างพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ เพื่อผลักดันกฎหมายนี้ให้แล้วเสร็จ เท่ากับปิดโอกาสประชาชน ในการเคลื่อนไหวคัดค้านทางกฎหมาย ซึ่งจะทำให้วิถีวัฒนธรรมการเก็บรักษาพันธุ์พืชไปปลูกต่อกลายเป็นความผิดทางอาญา และ.ได้เปิดทางให้โจรสลัดชีวภาพ.มาฉกฉวยทรัพยากรพันธุกรรมโดยง่าย
จากการสำรวจในเว็บไซท์ด้งกล่าว กรมวิชาการเกษตรได้ระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่า เป็นการร่างกฎหมายเพื่อให้ให้เป็นไป “ตามแนวทางของอนุสัญญาระหว่างประเทศ ว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (อนุสัญญา UPOV 1991)” และเพื่อรองรับ “แนวโน้มการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) จะผลักดันให้ประเทศไทย เข้าเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญา UPOV1991” นี่คือการฉวยโอกาสถึง 2 ชั้น คือ ฉวยโอกาสไม่ให้ประชาชนเคลื่อนไหวคัดค้าน และ ฉวยโอกาสผลักดันให้ประเทศไทยของเรา เข้าร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญาระหว่างประเทศในทางอ้อม โดยไม่ผ่านกระบวนการทางรัฐสภา เกี่ยวกับการให้สัตยาบัน..ในอนุสัญญาความตกลงระหว่างประเทศ.ตามรัฐธรรมนูญ
===========================================================================
ในเนื้อหาของร่างกฎหมายของกรมวิชาการเกษตร ที่มีการเผยแพร่ในเว็บไซท์ดังกล่าวนั้น มีเนื้อหาที่ละเมิดสิทธิเกษตรกร และ ขยายการผูกขาดของบรรษัทเมล็ดพันธุ์ ที่เปิดทางสะดวกให้โจรสลัดชีวภาพ ดังต่อไปนี้
– ตัดสิทธิของเกษตรกร ในการเก็บรักษาพันธุ์พืชใหม่ไปปลูกต่อ โดยตัดเนื้อหาใน มาตรา 33 (4) ของกฎหมายฉบับเดิมออก ซึ่งทำให้เกษตรกรที่เก็บพันธุ์พืชไปปลูกต่อ เสียประโยชน์.จนอาจได้รับโทษถึงจำคุก
– ได้ขยายระยะเวลาการผูกขาดพันธุ์พืชใหม่ จากบริษัทออกไป ตาม UPOV1991 โดยได้มีการขยายสิทธิผูกขาดพันธุ์พืชออกไปจาก 12 – 17 ปี ให้เพิ่มระยะเวลาเป็น 20 – 25 ปี แล้วแต่กรณี (ยกเว้นพืชที่ให้เนื้อไม้)
– ขยายการผูกขาดจากเดิม.ที่กำหนดอนุญาตเฉพาะ “ส่วนขยายพันธุ์” ให้รวมไปถึง “ผลผลิต” และ “ผลิตภัณฑ์”
– ขยายการผูกขาดพันธุ์พืชชนิดใหม่ ไปยังอนุพันธุ์ของสายพันธุ์พืชชนิดใหม่ หรือ สายพันธุ์ซึ่งมีลักษณะพันธุ์ที่ได้พันธุกรรมสำคัญๆ.มาจาก พันธุ์พืชที่ได้รับการคุ้มครอง (Essentially Derived Varieties-EDVs)
– เปิดทางสะดวกให้โจรสลัดชีวภาพ โดย ตัดการแสดงที่ไปที่มา ของสารพันธุกรรมออก เมื่อบริษัทประสงค์จะขอรับการคุ้มครองพันธ์พืชใหม่ และยังได้มีการ แก้คำนิยาม ของพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไปด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อ เปิดโอกาสให้บริษัทไม่จำเป็นต้องแบ่งปันผลประโยชน์ เมื่อนำเอาพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วๆไป ไปใช้ประโยชน์ โดยเพียงแต่บริษัท จะนำเอาพันธุ์พืชพื้นเมืองที่เขาต้องการมา ”ผ่านกระบวนการปรับปรุงพันธุ์” ก่อน.เท่านั้น
– มีการตัดทอนข้อกำหนดการ เรื่องที่ต้องผ่านกระบวนการทางด้านต่างๆออก ยกตัวอย่างเช่น รับรองความปลอดภัยทางชีวภาพ และ สำหรับพันธุ์พืชดัดแปลงพันธุกรรม ที่ประสงค์จะได้รับการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่นี้
– พยายามตัดทอนเงื่อนไขเกี่ยวกับการระงับสิทธิ ในพันธุ์พืชใหม่ ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง กับ ความมั่นคงทางอาหาร และ มีการแทรกแซงของรัฐ ในกรณีที่มีการตั้งราคาเมล็ดพันธุ์แพง .จนเกษตรกรไม่สามารถเข้าถึงได้
– แก้ที่มาของบุคลากรที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นคณะกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิจากเกษตรกร นักวิชาการ องค์กรสาธารณประโยชน์และภาคเอกชน ซึ่งของใหม่จะมาจากการเลือกตั้งกันเอง ที่เป็นการแต่งตั้งทั้งหมด
===========================================================================
โดยสรุปแล้ว กฎหมายที่ร่างขึ้นใหม่นี้ เป็นการเอื้อประโยชน์ให้บรรษัทยักษ์ใหญ่ ได้เข้ามาผูกขาดพันธุ์พืชอย่างเข้มข้น และเพิ่มโทษกับเกษตรกร ที่เก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ไปปลูกต่อ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ สุดท้ายแล้ว จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของทุกๆคนในประเทศ
เมื่อครั้งที่ได้ทราบว่า จะมีการแก้กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2559 ไบโอไทย ได้ทำหนังสือคัดค้าน พร้อมได้มีการชี้แจงเหตุผลต่างๆ ต่อกรมวิชาการเกษตร นักวิชาการหลายท่าน ได้แสดงความคิดเห็นคัดค้านไปแล้ว แต่ความเห็นดังกล่าว ไม่เคยได้รับการพิจารณาเลย ดังจะเห็นได้จากร่างกฎหมายของกรมวิชาการเกษตร ที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซท์ ที่ยังคงยืนยันร่างเดิมตามรูปแบบกฎหมายของ UPOV1991 และ การเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นทางหน้าเว็บไซท์ น่าจะเป็นเพียงแค่พิธีกรรม เพื่อสร้างความชอบธรรมต่อกฎหมายนี้ ให้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐบาล และ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ .ก็เท่านั้น
คงจะมีแต่ การช่วยกันเผยแพร่เรื่องนี้ออกไปอย่างกว้างขวาง เพื่อสร้างความตระหนักรู้ร่วมกันของเกษตรกร และสาธารณชน ให้มีพลังมาช่วยกันหยุดยั้ง ไม่ให้มีการรวบรัดเสนอกฎหมายเช่นนี้ เพื่อที่ประชาชนจะได้มีเวลา และ ยังสามารถแสดงความคิดเห็นต่างๆ หรือ เคลื่อนไหวคัดค้านได้อย่างกว้างขวาง โดยไม่ถูกรวบรัดเท่านั้น จึงพอจะหยุดยั้ง การดำเนินการของกรมวิชาการเกษตร และ บรรษัทเมล็ดพันธุ์ยักษ์ใหญ่ในครั้งนี้ได้
===========================================================================
ร่วมกันแสดงความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายนี้ที่เว็บไซท์ของกรมวิชาการเกษตร ได้ที่
http://info.doa.go.th/rubfung/pvp/ >>>>>>>>>>> http://info.doa.go.th/rubfung/pvp/ >>>>>>>>>> http://info.doa.go.th/rubfung/pvp/
เชิญอ่าน การรวบรัดรัด ในการฟังความคิดเห็นเมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2559 ได้ที่
https://www.facebook.com/biothai.net/photos/a.467826533255873.100128.183063271732202/1060919323946588/?type=3&theater
ลองอ่านความเห็นของอดีต รมต.สาธารณสุข และ นักวิชาการทางด้านชีวภาพ ได้ที่
https://www.facebook.com/biothai.net/photos/a.467826533255873.100128.183063271732202/1061884963850024/?type=3&theater
===========================================================================
แหล่งที่มา >>>>> https://www.facebook.com/biothai.net/
===========================================================================