เปิดประวัติความเป็นมา วังไกลกังวล สถานที่แปรพะพระราชฐานของในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และเป็นจุดริเริ่มหลายโครงการช่วยประชาชนให้อยู่ดีกินดี
หลายคนรู้จัก วังไกลกังวล ในฐานะสถานที่แปรพระราชฐานของในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ แต่ทราบหรือไม่ว่าวังแห่งนี้มีประวัติความเป็นมาอันยาวนานนับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 7 ทั้งยังเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการพระราชทานหลาย ๆ โครงการที่พ่อและแม่ของแผ่นดินทรงมีพระราชดำริเพื่อช่วยเหลือประชาชน
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดซื้อที่ดินบริเวณชายหาดหัวหินด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ และมีพระราชประสงค์ให้สร้าง วังไกลกังวล ใน ปี พ.ศ. 2469 เพื่อพระราชทานแด่ พระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี สำหรับใช้เป็นที่ประทับตากอากาศชายทะเล ซึ่งในการก่อสร้างครั้งนั้นดำเนินการโดย หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ กฤดากร ผู้อำนวยการศิลปากรสถาน แห่งราชบัณฑิตสภา เป็นผู้ออกแบบและควบคุมงานทั้งหมด ใช้เวลาในการสร้างประมาณ 3 ปี จึงแล้วเสร็จ ต่อมา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงออกพระนามวังแห่งนี้ว่า “สวนไกลกังวล” ซึ่งหมายถึง สวนที่อยู่ห่างไกลจากความกังวล
ต่อมา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ รวมทั้ง สมเด็จพระเทพรัตราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และพระบรมวงศานุวงศ์ ได้ใช้วังแห่งนี้เป็นที่ประทับแปรพระราชฐานในช่วงฤดูร้อน และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ยังมีพระราชประสงค์ที่จะใช้วังแห่งนี้เป็นที่เปลี่ยนพระราชอิริยาบถ หลังเสด็จพระราชดำเนินออกจากโรงพยาบาลศิริราช
ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบสเปน เช่น ใช้หลังคาบางส่วนเป็นรูปโค้ง การทำลานโล่งที่ดัดแปลงให้เข้ากับสภาพอากาศร้อนชื้นของเมืองไทย ทั้งยังเลือกใช้วัสดุก่อสร้างและของตกแต่งที่เหมาะสมกลมกลืนกับสภาพแวดล้อม และอย่างที่กล่าวไปว่า มีพระราชประสงค์ที่จะสร้างพระราชทานแด่ พระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี จึงได้มีตราสัญลักษณ์ประจำพระองค์ประดับตกแต่งอยู่หลายแห่ง
นอกจากนี้ภายในบริเวณเดียวกันยังมีพระตำหนักที่มีชื่อคล้องจองกันทั้งหมด 4 แห่ง และศาลาอีก 2 แห่ง ดังนี้
– พระตำหนักเปี่ยมสุข มีลักษณะเป็นอาคาร 2 ชั้น รูปทรงสเปน พร้อมหอสูง ก่อนเคยเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระนางเจ้ารำไพพรรณี ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ก็ได้ใช้เป็นที่ประทับแปรพระราชฐานในภายหลัง
– พระตำหนักปลุกเปรม เป็นตำหนักแบบไทยผสมสมัยใหม่ ภายในโปร่งโล่ง มีห้องนอนมากมาย ส่วนห้องน้ำและห้องส้วมที่อยู่ชั้นล่างมีหลายห้องเช่นกัน พร้อมทั้งตั้งโต๊ะและเก้าอี้หมู่เอาไว้ใกล้ ๆ กัน แต่ก่อนตำหนักนี้มีไว้สำหรับหม่อมเจ้าหญิงที่เป็นโสด ปัจจุบันเป็นที่ประทับแปรพระราชฐานของ สมเด็จพระเทพรัตราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
– พระตำหนักเอิบเปรมและตำหนักเอมปรีย์ เป็นตำหนักคู่แฝดมีเพียงชั้นเดียว การก่อสร้างและการวางห้องเครื่องที่ใช้นั้นคล้ายคลึงกัน มีลักษณะเป็นแบบบังกะโลบ้านพักตากอากาศชายทะเล ใช้เป็นที่ประทับแปรพระราชฐานของพระบรมวงศานุวงศ์
– พระตำหนักน้อย ก่อนเคยเป็นที่ประทับแปรพระราชฐานของสมเด็จกรมพระสวัสดิ์ฯ และพระองค์เจ้าหญิงอาภาพรรณี พระบิดามารดาของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี โปรดเสด็จไปประทับพักผ่อนเมื่อตามเสด็จไปที่หัวหิน ก่อนจะเป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีในเวลาต่อมา
– ศาลาเริง สถานที่อเนกประสงค์ไว้สำหรับเลี้ยงพระ พระราชทานอาหารเลี้ยง ทรงกีฬา ทรงดนตรี จัดฉายภาพยนตร์ จัดฉายการ์ตูนสำหรับเด็กในพระราชอุปการะ อีกทั้งยังเอาไว้จัดงานรื่นเริงและการแสดงต่าง ๆ อีกด้วย
– ศาลาราชประชาสมาคม เป็นอาคาร 2 ชั้น ด้านล่างเป็นลานโล่ง ส่วนด้านบนเป็นห้องประชุมขนาดใหญ่ ชื่อของศาลาแห่งนี้หมายถึง พระมหากษัตริย์และประชาชนเกื้อกูลระหว่างกัน เพื่อให้ข้าราชการเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทได้โดยไม่ต้องเสด็จฯ กลับกรุงเทพมหานคร เช่น พิธีพระราชทานกระบี่ของนักเรียนนายร้อย นอกจากนี้ยังใช้ในการเสด็จออกมหาสมาคมในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาในต่างจังหวัดและในวังแห่งนี้ รวมไปถึงการใช้ประกอบพิธีและพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ หลายครั้ง
ตามบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เรื่อง “คุณทองแดง” นั้น ทรงออกนามวังแห่งนี้ไว้ว่า “วังไกลกังวล” แม้วังไกลกังวลจะใช้เป็นที่สถานที่พักผ่อนสำหรับเจ้านายชั้นสูง แต่ ในหลวง รัชกาลที่ 9 นั้นมิได้เสด็จไปเพื่อการพักผ่อนเพียงอย่างเดียว หากแต่พระองค์ท่านยังใช้วังแห่งนี้เป็นที่ทรงงานด้วยทุกครั้ง หรือเรียกได้ว่าเป็นจุดกำเนิดของโครงการพัฒนาชนบทเลยก็ว่าได้ ซึ่งจะเห็นได้จากโครงการอันเนื่องจากพระราชดำริ อาทิ โครงการจัดการศึกษาด้วยระบบทางไกลผ่านดาวเทียม โครงการสร้างถนนสายห้วยมงคล และอื่น ๆ อีกมากมาย นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้
ประชาชนที่สนใจเข้าเยี่ยมชมวังไกลกังวล สามารถเข้าชมได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. โดยค่าเข้าชมผู้ใหญ่ 20 บาท และเด็ก 10 บาท แต่งกายด้วยชุดที่สุภาพ หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทรศัพท์หมายเลข 032-511112 ถึง 5
ที่มา: welovethaiking