์์ “ฉันคือเน็ตไอดอล”
การสื่อสารยุคใหม่ในโลกปัจจุบัน ระบบเครือข่ายการสื่อสารเชื่อมโยงถึงกันผ่านระบบออนไลน์และอินเทอร์เน็ต รวมถึงการมีสื่อสังคมออนไลน์ หรือ Social Media รูปแบบใหม่ๆ อย่างโปรแกรมยอดฮิต FACEBOOK , Instragram, Twitter และอื่นๆ อีกมากมาย ทำให้เกิดสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media Networking) ขึ้น ซึ่งกระแสบนโลกออนไลน์นี้ได้ก่อให้เกิดกระแสของความต้องการเป็นผู้นำ (Influencer) หรือดาวเด่นแห่งโลกออนไลน์ที่เรียกกันว่า “เน็ตไอดอล” (Net Idol) นั่นเอง
เน็ตไอดอล บนโลกโซเชียลมีเดียร์ในสังคมไทยปัจจุบัน มักจะเป็นคนใน ยุคมิลเลนเนียล เจนเนอเรชั่น หรือ Gen M ที่เกิดระหว่างปี 2532 -2538 ปัจจุบันพวกเค้าก็จะมีอายุระหว่าง 20-28 ปี มีทั้งกำลังศึกษาระดับปริญญาตรีหรือโท และกลุ่มคนเริ่มทำงานกันได้ไม่นานมาก คนกลุ่มนี้ในปัจจุบันมีจำนวน 14% ของประชากรไทย หรือประมาณ 8.96 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่กลุ่มนี้จะมีรายได้กันแล้ว รวมถึงเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อค่อนข้างสูง ส่วนไลฟ์สไตล์ของคน GEN M ก็มีบุคลิกเฉพาะตัว คือ ติดสมาร์ทโฟน แชตตลอดเวลา ขาดเครือข่ายไม่ได้ แถมยังขี้เบื่อ ชอบอะไรใหม่ๆ ไม่ภักดีกับแบรนด์ ชอบแสดงตัวตนสูงโดยเฉพาะบนโลกออนไลน์ ติดเพื่อน ต้องการให้สังคมออนไลน์ยอมรับตัวตน เห่อแบรนด์ อยากรวยเร็ว
ผลจากความต้องการเป็นเน็ตไอดอลของคนยุคใหม่ ก่อให้เกิดพฤติกรรมบนโลกปัจุบันที่เปลี่ยนไป เช่น ความต้องการโดดเด่นทางร่างกาย หรือเพื่อความสวยงาม ก็จะหันไปทำศัลยกรรม ไม่ว่าจะจัดฟัน ทำจมูก กรีดตา ฉีดกลูต้า โบท็อก ร้อยไหม สักคิ้วสามมิติ ส่วนพฤติกรรมในเชิงขีดความสามารถส่วนตัว ก็จะต้องถ่ายรูปสวย ใช้แอพเก่ง ในขณะที่การแสดงออกบนโลกโซเชียลก็จะเป็นแนวพร่ำเพ้อ หรือโพสผ่านโลกโซเชียลบ่อยๆ เพื่อให้คนติดตาม หรือแสดงความคิดเห็นตอบกลับเยอะๆ ดังนั้นพวกเค้าจะหาเรื่องใหม่ๆมาโพสต์ จึงต้องไปเที่ยวตามที่ต่างๆ กินข้าวร้านหรู เดินห้างชั้นนำ ช็อปปิ้ง หรืออาจจะเลือกวิธีการใช้การโชว์หรือแสดงออกวาบหวิว เพื่อเรียกคนดู สร้างกระแสกดไลค์ กดแชร์กันให้เยอะที่สุดนั่นเอง รวมถึงหากเริ่มติดกระแสของการเป็นเน็ตไอดอลแล้ว ก็อาจจะเริ่มทำธุรกิจกัน เช่น ขายครีม หรือเครื่องสำอาง จนเน็ตไอดอลบางคนร่ำรวยไปนับสิบๆล้านจากช่องทางนี้เลยก็ว่าได้
นอกจากนี้ยังกมีกลุ่มคน GEN Z ก็กำลังเริ่มถือกำเนิด และทยอยเดินตามรอยคน GEN M ซึ่งตามนิยามของคนรุ่นนี้ กล่าวไว้ว่า เป็นคนที่เกิดประมาณ พ.ศ.2538-2552 ขึ้นไป อายุปัจจุบันก็ตั้งแต่ 7-20 ปี ซึ่งคนกลุ่มนี้เกิดมาในยุคที่การสื่อสารออนไลน์และเทคโนโลยีเฟื่องฟูแล้ว มีมือถือเป็นเครื่องมือสำคัญ เห็นได้ตั้งแต่การเลี้ยงลูกด้วยมือถือ หรือแท็ปเล็ต ดังนั้นพวกเค้าจะมีความสามารถในการเรียนรู้ได้สูง ขี้สงสัย และก็ค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง ความอดทนต่ำ แต่สิ่งที่ตามมาคือ การต้องการความยอมรับในหมู่เพื่อนฝูง หรือสังคมบนโลกออนไลน์ก็สูงตามไปด้วย เพราะมีต้นแบบจาก GEN M ที่ประสบความสำเร็จหรือเป็นที่ยอมรับในโลกออนไลน์นั่นเอง
จากการสอบถามมุมมองของคนทั่วๆไป ว่ามองเน็ตไอดอล ต้องเป็นใครกันหรือ หลายๆคน ก็อาจนึกถึง เด็กวัยรุ่นที่สร้างกระแสการเรียกร้อง เพื่อให้มีคนเข้าชมผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ มีคนแสดงความเห็นเยอะๆ หรือมีคนกด Like หรือ Follow กันแบบกระหน่ำ ซึ่งบางครั้งวิธีการดึงดูดคนก็ใช้เทคนิคการแต่งตัวแนวเซ็กซี่ยั่วยวนชวนหวิว หรือมีการแสดงออกที่เป็นตัวเองจัดๆ หรือวัยรุ่นเค้าเรียกว่า “อินดี้” ที่มีรากคำมาจาก Individual ที่แหวกแนวไม่เหมือนใคร เป็นต้น
แล้วพวกโปรแกรมแชท หรือไลฟ์บอร์ดแคชสด (Live) ยอดฮิต ซึ่งในอดีตเห็นจะเป็นโปรแกรมชื่อ Camfog ส่วนมาในยุคปัจจุบันโปรแกรม BIGO Live หรือ IT’s Me! ที่ขณะนี้กำลังฮิตๆในกลุ่มวัยรุ่น GEN M ที่มักจะเป็นวัยรุ่นหญิงสาวแต่งตัวเซ็กซี่ นุ่งน้อย ห่มน้อย มาคุยสดๆ ให้คนดูฟัง หรือบางคนที่จะเต้นโชว์เรือนร่างที่สวยงาม หรืออาจจะแต่งหน้าแปลกๆ เพื่อเรียกคะแนนกับคนดู หรืออย่างน้อยก็บอกให้โลกเค้ารู้กันว่า ฉันนี่แหละมีคนติดตามเยอะนะจ๊ะ ซึ่งจากการแสดงออกของวัยรุ่นเหล่านี้ถือว่าเป็น “เน็ตไอดอล” กันหรือไม่???
ลองมาดูผู้ให้คำนิยาม เน็ตไอดอล กันซักนิดดีกว่า มันคืออะไรกันแน่
1.เป็นหญิงสาวที่มีผิวพรรณหน้าตาดีและกำลังเป็นที่ให้ความสนใจของผู้คนมากมาย อายุประมาณ 18 ปี แต่ต้องไม่เกิน 22 ปี เพราะหากมากกว่านี้โอกาสที่จะร่วมประกวดเวทีต่างๆหรือการคัดสรรเข้าเป็นนักแสดงหน้าใหม่ในสื่อต่างๆ ก็ดูเหมือนจะริบหรี่ลง
2. ผ่านเวทีประกวดที่ได้รับความเห็นชอบจากผู้ชมและคณะกรรมการ ซึ่งสาวๆ เหล่านี้ไม่ได้ต้องการที่จะชนะเลิศในการประกวด แต่เพียงเพื่อเอาประสบการณ์เท่านั้น
3.มีความสำคัญในเรื่องที่ดีพอให้คนจำนวนมากยอมรับในสิ่งดีๆในตัวเธอที่นอกเหนือจากหน้าตา เช่นการแสดงออกที่ดงามให้แก่สังคม เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ
แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปเน็ตไอดอลก็เหมือนจะมีความหมายที่เปลี่ยนไป กลายเป็นการตัดต่อภาพหญิงสาวให้สวยกว่าตัวจริง หรือการใช้โปรแกรมในการถ่ายภาพให้สวยออกมาเลิศเลอไม่สนใจแม้แต่ความจริงจะเป็นเช่นไร บางคนชนิดที่เรียกว่ารูปถ่ายกับตัวจริงไม่เหมือนเลยแม้แต่นิดเดียวแต่ก็อยากให้คนอื่นในโลกออนไลน์ยอมรับในภาพที่พวกเธอสร้างขึ้นและเมื่อเป็นเช่นนั้นเน็ตไอดอลในประเทศไทยจึงผิดเพี้ยนจากเน็ตไอดอลที่เกิดขึ้นในต่างประเทศที่ต้องมีเวทีสร้างเน็ตไอดอลอย่างเป็นเรื่องเป็นราว
ที่มา netidolthailand.com
ขอบคุณภาพคุณ mookworranit เน็ตไอดอล ที่มีผู้ติดตามกว่า 1 ล้านคน จากอินสตราแกรม
“นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
นอกจากนี้ ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “เน็ตไอดอล” พบว่า 60.02% ประชาชนทั่วไปในการสำรวจ ไม่รู้จัก/ไม่แน่ใจว่าเนตไอดอลคืออะไร รองลงมา 11.70% ระบุว่า เป็นบุคคลที่ไม่ได้เป็นดารา แต่หน้าตาดี มีความสามารถ แล้วโด่งดังบนสื่อออนไลน์ 10.58% มองว่าเป็นบุคคลที่ไม่ได้เป็นดารา หน้าตาอาจจะธรรมดา แต่มีอะไรที่โดดเด่น แล้วโด่งดังบนสื่อออนไลน์ 7.05% ระบุว่าเป็นบุคคลที่ไม่ได้เป็นดารา แต่มีแฟนคลับติดตามบนโลกออนไลน์มากมาย ส่วน 3.12% ระบุว่าเป็นบุคคลที่ไม่ได้เป็นดารา แต่โชว์เซ็กซี่ลงบนสื่อออนไลน์ต่าง ๆ แล้วโด่งดังบนสื่อออนไลน์ และกลุ่มสุดท้าย 0.88% ระบุว่าเป็นคู่รักหรือบุคคลที่ไม่ใช่ดารา บางครั้งชอบสร้างกระแสในสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งมีทั้งด้านดีและไม่ดี และบางคนก็เป็นบุคคลที่ชอบขายสินค้าต่าง ๆ เช่น ครีม อาหารเสริมต่าง ๆ เป็นต้น
ที่มาข้อมูล “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
เพราะฉะนั้นสังคมไทยควรจะตระหนักและแยกให้ออกว่า คนไหนควรจะได้รับการยกย่อง ว่าควรเป็นตัวอย่าง ควรได่รับคำว่า net idol ไม่ใช่เพียงแค่ได้รับการ กดไลค์ กดเลิฟ เพียงเพราะพวกเค้าเหล่านั้นต้องมาใช้ร่างกายในการโชว์สัดส่วนให้คนดู หรือทำตัวอย่างในทางที่ไม่เหมาะสม แล้วได้รับการยกย่อง ว่าเขาคือ Net Idol กันไปแบบไม่มีเหตุผลนั่นเอง
ขอบคุณที่มาข้อมูล
“นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
netidolthailand.com
ขอบคุณภาพ mookworranit เน็ตไอดอล ที่มีผู้ติดตามกว่า 1 ล้านคน จากอินสตราแกรม
#NetIdol
#GenM
#GenZ
เรื่องและเรียบเรียงโดย Mr.AboutLivingDotAsia