สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) จับมือพันธมิตรผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดิจิทัล ลงพื้นที่ จ.กระบี่ เพื่อติดตามความคืบหน้าในการดำเนินงานและเร่งประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ลุยวางรากฐานเพื่อผลักดันกระบี่ สู่ Smart City ตามแผนการขยายพื้นที่พัฒนาเมืองอัจฉริยะที่กำหนดไว้
ดร.ศุภกร สิทธิไชย ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) เปิดเผยว่า การพัฒนา Smart City จ.กระบี่เกิดจากแนวคิดตั้งต้นของ พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เพื่อเร่งพัฒนาพื้นที่ฝั่งอันดามันซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะในด้านการท่องเที่ยว ด้วยความเชื่อว่าการพัฒนาเมืองจะยั่งยืนได้ต้องเกิดจากการร่วมขับเคลื่อนของคนในพื้นที่ ในช่วงแรก depa ได้ทำงานร่วมกับผู้บริหารในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของพื้นที่นั้น ๆ อย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด นายกเทศมนตรี รวมถึงหน่วยงานเอกชน เช่น สมาคมธุรกิจท่องเที่ยว หอการค้าจังหวัด ฯลฯ เพื่อตกผลึกแนวคิดในการพัฒนาเมือง จากนั้นจึงประสานผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดิจิทัล เพื่อตีโจทย์ความต้องการของเมืองไปสู่ขั้นตอนการวางระบบและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีต่อไป “สำหรับแนวทางการทำงานของฝ่ายส่งเสริมเมืองอัจฉริยะจากการลงพื้นที่ในครั้งนี้ เป็นการติดตามผลที่ depa ได้ประสานความร่วมมือระหว่างเมืองกระบี่ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช รวมถึงผู้ประกอบการอุตสาหกรรมดิจิทัล ที่ได้ดำเนินการติดตั้งเครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ ในพื้นที่จ.กระบี่ เช่น Smart tracking เพื่อควบคุมปริมาณเข้า-ออกของนักท่องเที่ยวให้เหมาะสมกับความสามารถในการให้บริการในพื้นที่อุทยาน รวมถึงติดตามเรือที่เข้าออกในพื้นที่อุทยาน See it Live ให้นักท่องเที่ยวได้เห็นภาพจากสถานที่จริงแบบ real time การจัดตั้ง Command Center เพื่อติดต่อสื่อสารและดูแลความเรียบร้อยในเขตพื้นที่อุทยาน และแผนการในอนาคตที่จะพัฒนาระบบ e-ticket และ Mobile application เพื่อควบคุมปริมาณนักท่องเที่ยวให้เหมาะสมกับสมดุลของสิ่งแวดล้อม โดยในระยะ 2-3 เดือนถัดจากนี้จะเป็นช่วงการติดตั้งอุปกรณ์และทดสอบการใช้งานระบบ ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามแผน เราจะสามารถเห็นผลการพัฒนา Smart City จ.กระบี่เป็นรูปเป็นร่างขึ้นในช่วงต้นปี 2562 ครับ” ดร.ศุภกรกล่าว
นายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เปิดเผยว่า “กรมอุทยานฯ มุ่งเป้าหลักไปที่การพัฒนาแหล่งทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องยกระดับการให้บริการทางด้านท่องเที่ยว และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศให้สูงขึ้น การนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม ทั้งพัฒนาการท่องเที่ยว และการดูแลแหล่งธรรมชาติจึงจำเป็นอย่างยิ่ง กรมอุทยานแห่งชาติมีเป้าหมายในการพัฒนาให้กรมอุทยานฯ เป็นกรมอุทยานแห่งชาติ 4.0 ทางกรมอุทยานฯ ตั้งใจจะนำเทคโนโลยีหลายอย่างมาใช้ภายในปี 2562 เช่น ระบบในการควบคุมปริมาณเข้า-ออกของนักท่องเที่ยวที่เข้าในอุทยานให้เหมาะสมกับพื้นที่อุทยานฯ ที่สามารถรองรับการให้บริการได้ ระบบความปลอดภัย ที่จะนำทั้ง CCTV และ mobile application มาดูแลว่าใครเข้ามาเล่นน้ำในเวลาที่ไม่อนุญาต หรือมีเรือเข้ามาในพื้นที่ที่กันไว้สำหรับนักท่องเที่ยวว่ายน้ำ ระบบ sensor สิ่งแวดล้อมเพื่อศึกษาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อุทยานฯ ได้แบบ real time อีกทั้งยังเป็นการแจ้งเตือนเมื่อมีภัยพิบัติ เช่น มีระดับน้ำสูงอย่างรวดเร็ว ระบบการ Tracking เรือที่ช่วยให้ทราบได้ว่ามีเรือลำไหนเข้ามาในบริเวณที่ไม่อนุญาต หรือมีเรือที่เข้ามาในพื้นที่แล้วเกิดอุบัติเหตุ มี command center ที่เชื่อมโยงจากส่วนกลาง มีสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์และอุทยานแห่งชาติทั้งหมดเพื่อคอยเฝ้าระวังพื้นที่ป่า ความปลอดภัยและรวบรวมสถิติทั้งรายได้และสิ่งแวดล้อมเพื่อใช้ในการวางแผนปฏิบัติงานในอนาคต เป็นต้น ทั้งนี้ต้องขอขอบคุณสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) และกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมดิจิทัล และอีกหลายบริษัทที่ได้มาช่วยกันนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ทดสอบสำหรับภารกิจของกรมอุทยานครั้งนี้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการประยุกต์ใช้อีก 150 อุทยานทั่วประเทศได้อย่างดี และหวังว่าจะเกิดความร่วมมือ และมีการขยายผลไปสู่โครงการกรมอุทยานแห่งชาติ 4.0 ต่อไป”
นายกีรติศักดิ์ ภูเก้าล้วน นายกเทศมนตรีเมืองกระบี่ กล่าวว่า แนวทางการพัฒนา Smart City จังหวัดกระบี่ มีความสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาไปสู่เมืองที่มีคุณภาพในปี 2569 หรือ Q city ซึ่งเริ่มดำเนินการไปแล้วตั้งแต่ปี 2549 อันประกอบด้วย 6 แนวทาง ได้แก่ 1. Clean City เมืองสะอาด 2. Green City เมืองสีเขียว คือมีการดูแลรักษาธรรมชาติสิ่งแวดล้อมให้คงอยู่อย่างยั่งยืน 3. Safe City เมืองที่มีความปลอดภัย ทั้งผู้ที่อยู่อาศัย และนักท่องเที่ยว 4. Healthy City เมืองที่มีสุขภาพที่ดี 5. Wealthy City เมืองที่มีความมั่งคั่งบนพื้นฐานหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 6. Tourism Destination City เมืองท่องเที่ยวที่มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันต้องยอมรับว่าเทคโนโลยียุคใหม่ได้เข้ามามีผลกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างมาก ทั้งในด้านพฤติกรรมท่องเที่ยว และการสื่อสารเรื่องการท่องเที่ยวผ่าน Social Media ซึ่งช่วยกระตุ้นให้เกิดความต้องการท่องเที่ยว การนำเรื่องของเทคโนโลยีด้านดิจิทัลมาวางระบบและประยุกต์ใช้เพื่อช่วยบูรณาการพัฒนาการท่องเที่ยวของกระบี่ให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก และเชื่อมั่นว่าจะเกิดความร่วมมือและมีการขยายผลเป็นรูปธรรมมากขึ้นต่อไปในอนาคตอย่างแน่นอน