เปิดไอเดียชีวิตมีสไตล์ เมื่อโลกเข้าสู่ยุค Internet of Things (ตอนที่ 1)
ปัจจุบันเชื่อว่า หลายๆ คนคงได้ยินคนพูดถึงคำว่า อินเทอร์เน็ตออฟธิงค์ หรือ Internet of Things หรือตัวย่อ “IoT” กันบ่อยๆ มากขึ้น ซึ่งก็เชื่อว่าคนจำนวนไม่น้อยก็พอเดาๆได้ว่า มันคงหมายถึงเรื่องราวเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตในชีวิตประจำวันของเรานี่แหละ
แต่หากถามลงลึกว่า เข้าใจกันหรือไม่ว่าโลกของ IoT มันมีอะไรบ้าง และมันจะเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนยุคใหม่นี้อย่างไร เชื่อว่ายังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยคิดแค่ว่า IoT ก็คงเป็นแค่โลกออนไลน์ โลกของข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต หรืออาจจะโลกของการสื่อสารบนมือละมั๊ง เพราะทุกวันนี้ก็เล่นเฟสตามดูเพื่อนๆโม้ว่าไปเที่ยวนู่นนี่ ส่งข้อความผ่านไลน์คุยกับเพื่อนหรือทำงาน ก็พอแล้วนี่ แต่จริงๆ IoT มันมีขีดความสามารถที่เข้าถึงการดำรงชีวิตของคนรุ่นใหม่ที่มากกว่านั้นเยอะเชียวครับ
ก่อนอื่น มาดูกันก่อนเลยดีกว่า คำว่า Internet of Things หรือ IoT ตามแนวคิดวิชาการก็คือ สภาพแวดล้อมอันประกอบด้วยสรรพสิ่งที่สามารถสื่อสารและเชื่อมต่อกันได้ผ่านโพรโทคอลการสื่อสารทั้งแบบใช้สาย ก็พวกสายLAN สายทองแดง สาย ไฟเบอร์ออฟติค และอีกประเภทก็คือระบบไร้สาย ไม่ว่าจะเป็นสัญญาณ WIFI, Bluetooth, สัญญาณโทรศัพท์ 2G, 3G, 4G หรือบางประเทศเริ่มมี 5G กันไปแล้ว โอ…หลายคนบอกว่า เริ่มมีศัพท์ยากๆขึ้นมาซะและ แต่มันก็อาจจะเป็นสิ่งที่พอให้รู้กันบ้างก็พอ ว่ามันทำงานกันอย่างไรแล้วกันนะครับ
ผลจากการเชื่อมต่อสัญญาณการสื่อสารสู่ระบบอินเทอร์เน็ตได้ อย่างสะดวกรวดเร็ว ส่งผลต่อการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะเชื่อมต่อการสื่อสารจากอินเทอร์เน็ตถึง อุปกรณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวันของคนเรา หรือเรียกง่ายๆ คือ สร้างเครื่องมือที่จะคุยกัน สั่งงานได้ ไปยังสิ่งของต่างๆในชีวิตประจำวัน ให้ทำงานควบคู่ไปกับอุปกรณ์เครื่องมือสื่อสารต่างๆ เช่น โทรศัพท์ ระบบคอมพิวเตอร์ ระบบเซนเซอร์ต่างๆ ภายใต้หลักการทางด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร
1) เทคโนโลยีที่ช่วยให้สรรพสิ่งรับรู้ข้อมูลในบริบทที่เกี่ยวข้อง เช่น เซ็นเซอร์
2) เทคโนโลยีที่ช่วยให้สรรพสิ่่งมีความสามารถในการสื่อสาร เช่น ระบบสมองกลฝังตัว รวมถึงการสื่อสารแบบไร้สายที่ใช้พลังงานต่ำ อาทิ Zigbee, 6LowPAN, Low-power Bluetooth
3) เทคโนโลยีที่ช่วยให้สรรพสิ่งประมวลผลข้อมูลในบริบทของตน เช่น เทคโนโลยีการประมวลผลแบบคลาวด์ และเทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data Analytics
นอกจากนี้ การพัฒนาทางด้าน IoT จะนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมและบริการใหม่ๆ เพื่อรองรับการดำรงชีวิตที่สะดวกสบาย และรวดเร็วยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น เซ็นเซอร์ภายในบ้านตรวจจับการเคลื่อนไหวของผู้อยู่อาศัย และส่งสัญญาณไปสั่งเปิด/ปิดสวิตซ์ไฟตามห้องต่าง ๆ ที่มีคนหรือไม่มีคนอยู่ อุปกรณ์วัดสัญญาณชีพของผู้ป่วย/ผู้สูงอายุและส่งข้อมูลไปยังบุคลากรทางการแพทย์ หรือส่งข้อความเรียกหน่วยกู้ชีพหรือรถฉุกเฉิน เป็นต้น
รวมถึง IoT ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญ ที่จะเปลี่ยนรูปแบบและกระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรมไปสู่ยุคใหม่ หรือที่เรียกว่า Industry 4.0 ที่จะอาศัยการเชื่อมต่อสื่อสารและทำงานร่วมกันระหว่างเครื่องจักร มนุษย์ และข้อมูล เพื่อเพิ่มอำนาจในการตัดสินใจที่รวดเร็วและมีความถูกต้องแม่นยำสูง โดยที่ข้อมูลทั้งหลายที่เก็บจากเซ็นเซอร์ที่ใช้ตรวจวัดตัวอุปกรณ์และสภาพแวดล้อมจะถูกนำมาวิเคราะห์ ให้ได้ผลลัพธ์เพื่อนำไปปรับปรุงกระบวนการผลิตได้อย่างทันที นอกจากการข้ามขีดจำกัดเรื่องเวลาแล้ว ระบบควบคุมหรือระบบวิเคราะห์ข้อมูล อาจไม่ได้อยู่ในที่เดียวกันกับเครื่องจักร แต่สามารถควบคุมสั่งการได้โดยไร้ขีดจำกัดเรื่องสถานที่ด้วยนั่นเอง
ที่มา its.sut.ac.th/