ใช้ภาชนะบรรจุอาหารผิดประเภท อาจเสียชีวิตได้!!
ภาชนะบรรจุอาหาร เป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่งในชีวิตประจำวันสำหรับคนเรา เนื่องจากการบริโภคอาหารในแต่ละวัน ต้องอาศัยภาชนะบรรจุอาหาร เพื่อช่วยเพิ่มความสะดวกในการรับประทาน แต่ก่อนที่จะใช้ภาชนะเพื่อบรรจุอาหารนั้น ควรคำนึงถึงชนิดของภาชนะด้วย ว่าเหมาะสมกับอาหารที่จะบรรจุหรือไม่
ภาชนะบรรจุอาหารที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน เช่น ภาชนะพลาสติกประเภทต่างๆ จำพวก จาน/ชามพลาสติก ถุงพลาสติก และฟิล์มยืดใสหุ้มอาหาร ภาชนะเมลามีนฯลฯ, ภาชนะอลูมิเนียม, ภาชนะเคลือบเทฟล่อน, ชามแก้วหรือเซรามิก เป็นต้น
ซึ่งภาชนะบรรจุอาหารแต่ละชนิดจะมีคุณสมบัติและส่วนประกอบของสารต่าง ๆ ที่แตกต่างกัน ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเลือกภาชนะบรรจุอาหารที่เหมาะสมกับการใช้งานและประเภทของอาหาร ซึ่งจะช่วยป้องกันอันตรายจากสารเคมีได้ โดยเฉพาะภาชนะเมลามีนหรือที่เรียกว่า เมลามีนฟอร์มาลดีไฮด์เรซิน เป็นโพลิเมอร์ของเมลามีนกับฟอร์มาลดีไฮด์ ซึ่งเป็นที่นิยมใช้เป็นภาชนะประเภทที่ใช้บนโต๊ะอาหาร เช่น จาน ชาม ถ้วย เป็นต้น เนื่องจากเป็นภาชนะที่สวยงาม สามารถตกแต่งลวดลายได้ น้ำหนักเบา ตกไม่แตก
แต่มีข้อควรระวังอยู่สำหรับการใช้ คือ ไม่ควรใช้กับเตาไมโครเวฟ เพราะคลื่นไมโครเวฟจะทำให้คุณภาพภาชนะเสื่อม ควรใช้ภาชนะเมลามีนกับอาหารที่มีอุณหภูมิปกติ เนื่องจากที่อุณหภูมิ สูงกว่า 95 องศาเซลเซียส อาจจะมีการแพร่กระจายของสารเคมีอันตรายออกมาได้มาก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ ระยะเวลาที่ใช้บรรจุอาหาร รวมทั้งคุณภาพของการผลิตด้วย
นอกจากนี้ควรระวังอย่าให้ผิวภาชนะให้ถูกกัดกร่อนจากการล้างทำความสะอาดน้อย ที่สุด เพราะรอยขูดขีดที่เกิดขึ้นอาจเป็นที่สะสมของเศษอาหาร อาจทำให้เป็นแหล่งของเชื้อโรคได้ และที่สำคัญสุดคือต้องเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีตรา หรือเครื่องหมายการรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นการยืนยันได้ในระดับหนึ่งว่า สินค้าเหล่านั้นได้ผ่านการตรวจสอบคุณภาพว่าได้มาตรฐาน เพื่อความปลอดภัยในการบริโภคต่อไป
ดังนั้นการเลือกใช้ภาชนะบรรจุอาหารประเภทต่างๆ ควรเลือกภาชนะที่มีคุณสมบัติเหมาะสมต่อการใช้งานทั้งในด้านทนความร้อน ความเป็นกรดเป็นด่าง ความเหนียวและความคงทน ภาชนะที่ค่อนข้างปลอดภัยในการบรรจุอาหาร ได้แก่ ภาชนะกระเบื้องหรือเซรามิค หรือภาชนะสเตนเลส สตีล นอกจากนี้ควรหมั่นทำความสะอาดภาชนะบรรจุอาหารให้สะอาดอยู่เสมอ เก็บภาชนะในที่สะอาดและแห้ง หากเกิดการชำรุด สีหลุดลอก ควรเปลี่ยนภาชนะบรรจุอาหารเสียใหม่ เพื่อสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงและปลอดจากโรค
ที่มาของข้อมูล กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
Info Graphic โดยสถาบันพลาสติก
ภาพปก โดย AboutLiving.Asia
เรียบเรียงเรื่อง Mr.AboutLiving