วันนี้ (22 ก.ค.) นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ตรวจความพร้อมโครงการทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ตลอดสานทาง ระยะทาง 16.7 กม. ก่อนจะมีการเปิดให้รถวิ่งเพื่อทดสอบความเรียบร้อยทั้งในส่วนของพื้นทาง และระบบจัดเก็บค่าผ่านทางในช่วงระหว่างวันที่ 15-17 สิงหาคม 2559 โดยยังไม่เก็บค่าผ่านทาง โดยมีกำหนดเปิดให้ประชาชนใช้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 22 สิงหาคม 2559
สำหรับอัตราค่าผ่านทางกำหนดที่ 50 บาทตลอดสาย มีการปรับเพิ่ม 15 บาท ทุกๆ 5 ปี โดยเป็นการกำหนดแบบคงที่ ซึ่งแตกต่างจากสัญญาสัมปทานระบบทางด่วนขั้น 2 ที่กำหนดปรับค่าผ่านทางโดยคำนวณจากดัชนีราคาผู้บริโภค CPI ซึ่งที่ผ่านมานั้นมีปัญหาและกลายเป็นข้อพิพาทระหว่าง กทพ.กับผู้รับสัมปทาน ขณะที่ กทพ.จะได้รับส่วนแบ่งรายได้เมื่อผลตอบแทนการลงทุน (FIRR) เกิน 13.5% จะได้รับที่ 30% หาก FIRRเกิน 15.5% จะได้รับส่วนแบ่งรายได้เพิ่มเป็น 50% ทั้งนี้ ประมาณการว่า FIRR จะถึง 13.5% ในปีที่ 15 ของการเปิดให้บริการ โดยคาดการณ์ปริมาณจราจรในปีแรกที่เปิดให้บริการที่เฉลี่ยประมาณ 97,000 คันต่อวัน
นายอาคมกล่าวว่า รัฐบาลอนุมัติโครงการตั้งแต่ปี 2554 และเริ่มก่อสร้างปลายปี 2555 ใช้เวลา 4 ปี โดยก่อสร้างได้เร็วกว่าแผน เนื่องจากผู้รับสัมปทานเร่งรัดก่อสร้าง ซึ่งงานทั้งหมดจะเสร็จสมบูรณืปลายเดือนกรกฎาคม และจะต้องมีการทดสอบระบบทั้งหมด ระบบควบคุม พื้นผิวจราจร การเข้าออกต่างๆ ซึ่งอยากให้ดูแลปริมาณจราจร หน้าด่านเก็บค่าผ่านทาง ซึ่งได้มอบหมายให้ กทพ. และบริษัทจำลองสถานการณ์ก่อนเปิดใช้จริง เพื่อประเมินปริมาณรถที่จะเข้ามาใช้เส้นทางสายนี้ และจะกระทบกับผิวจราจรด้านล่างหรือไม่ แค่ไหน ก่อนเปิดจะต้องพร้อม
“จริงๆ ผมอยากให้เพิ่มช่อง EASY PASS เพื่ออำนวยความสะดวกและเชิญชวนให้ประชาชนหันมาใช้บัตร EASY PASS เพิ่มขึ้น เพราะจำนวนรถที่จ่ายเงินสดยังมีมากอยู่ ซึ่งก็ทำให้เกิดปัญหาจราจรหน้าด่าน นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมได้เร่งรัดการใช้ระบบตั๋วร่วม ระหว่างบัตร EASY PASS กับ บัตร M PASS ของกรมทางหลวง ภายในเดือนตุลาคมนี้อีกด้วย โดยรอเพียงระบบการตัดบัญชี ค่าธรรมเนียมและค่าผ่านทางเท่านั้น” นายอาคมกล่าว
นายณรงค์ เขียดเดช ผู้ว่าการ กทพ.เปิดเผยว่า ทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ เป็นโครงการต่อขยายโครงข่ายทางพิเศษไปยังฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ มีระยะทางรวม 16.7 กม. เริ่มต้นจากถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ถนนกาญจนาภิเษก บริเวณใกล้โรงกรองน้ำมหาสวัสดิ์) ตามแนวเขตทางรถไฟสายใต้เดิม และข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสะพานพระราม 7 สิ้นสุดโครงการบริเวณย่านบางซื่อ เชื่อมต่อทางพิเศษศรีรัชบริเวณด้านเหนือของสถานีขนส่งหมอชิต 2 และลงสู่ระดับดินที่บริเวณถนน กำแพงเพชร 2 มีทางขึ้น-ลง 6 แห่ง คือ ทางขึ้น-ลงบรมราชชนนี ทางขึ้น-ลงราชพฤกษ์ ทางขึ้น-ลงบางบำหรุ ทางขึ้น-ลงจรัญสนิทวงศ์ ทางขึ้น-ลงพระราม 6 และทางขึ้น-ลงกำแพงเพชร 2
สำหรับทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ วงเงินลงทุนทั้งสิ้น 32,816 ล้านบาท โดยรัฐบาลรับภาระเงินอุดหนุนค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน วงเงิน 9,564 ล้านบาท เอกชนคือบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) รับภาระค่าออกแบบก่อสร้างและค่าควบคุมงานเป็นเงิน 24,417 ล้านบาท และค่าบริหารจัดการให้บริการและบำรุงรักษาเป็นเงิน8,399 ล้านบาท
โดย กทพ.ได้ลงนามสัญญาสัมปทานกับ BEM เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2555 อายุสัญญาสัมปทาน 30 ปี (มีระยะเวลาก่อสร้าง 48 เดือน)
ที่มา: manageronline