เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการเปิดเผยภาพแบบก่อสร้างพระเมรุมาศ ทางกรมศิลปากรที่ได้เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม โดยในวันนี้ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการฝ่ายจัดสร้างพระเมรุมาศ สิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศและบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
พล.อ.ธนะศักดิ์ให้สัมภาษณ์ว่า สำหรับแบบก่อสร้างพระเมรุมาศ ทางกรมศิลปากรได้เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคมที่ผ่านมา อาจมีปรับในรายละเอียดเล็กน้อยเพื่อให้สมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และในวันนี้ถือว่าสมบูรณ์แบบแล้ว ที่ผ่านมาได้รายงานให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดงานพระราชพิธีพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รับทราบเป็นระยะ โดยนายกฯกำชับให้จัดสร้างอย่างสมพระเกียรติ ซึ่งการประชุมในวันนี้เพื่อให้ทุกหน่วยงานทำความเข้าใจและรับทราบเพื่อพร้อมดำเนินงานตามขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้จะทำพิธีตอกหมุดจุดกึ่งกลางพระเมรุมาศ และทำการบวงสรวง การปรับปรุงตกแต่งราชรถ พระราชยาน ในวันที่ 19 ธันวาคมนี้ โดยช่วงเดือนธันวาคมนี้จะเริ่มก่อสร้างและปิดรั้ว 2 ใน 3 ของสนามหลวง จากนั้นเดือนมกราคม 2560 เมื่อ กทม.ให้พื้นที่จะเริ่มก่อสร้าง และวางแผนจะเสร็จไม่เกินเดือนกันยายน 2560
ด้านนายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ในฐานะเลขาฯคณะกรรมการจัดสร้างพระเมรุมาศ เปิดเผยว่า การออกแบบครั้งนี้เราได้กำหนดกรอบแนวคิดไว้ 3 ประการ คือ 1.ต้องสมพระเกียรติ เพราะครั้งนี้เป็นการถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งงานถวายพระเพลิงพระมหากษัตริย์ครั้งหลังสุดคือ ปี 2493 คือการถวายพระเพลิงพระบรมศพพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เพราะฉะนั้น 60 กว่าปีที่ผ่านมามีเพียงพระเมรุของสมเด็จชั้นเจ้าฟ้า 2.ออกแบบตามหลักราชประเพณีโบราณ โดยยึดแบบสมัยรัตนโกสินทร์ เพราะแบบของสมัยอยุธยานั้นเราไม่มีรูปแบบที่เป็นหลักฐาน เราจึงดูแบบพระเมรุมาศของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล และ 3.การออกแบบครั้งนี้ยึดหลักไตรภูมิ ตามคัมภีร์พระพุทธศาสนา และความเชื่อว่าพระมหากษัตริย์คือสมมุติเทพ ตามระบบเทวนิยม ซึ่งจาก 3 แนวคิดหลักนี้ก็ปรากฏเป็นแบบพระเมรุมาศในครั้งนี้ คือแบบทรงยอดบุษบก องค์หลักจะอยู่กึ่งกลางอันหมายถึงเขาพระสุเมรุ อีก 8 มณฑป ที่อยู่รายรอบนั้นหมายถึงเขาสัตตบริภัณฑ์ อันหมายถึงระบบจักรวาล
ส่วนลวดลายประกอบ ไม่ว่าจะเป็นชั้นฐาน หรือประติมากรรมที่ประกอบในพระเมรุมาศ ทั้งหมดจะสะท้อนถึงเรื่องระบบจักรวาลที่มีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลาง ไม่ว่าจะเป็นชั้นครุฑ ชั้นเทพ หรือเทวดา รวมไปถึงสัตว์หิมพานต์ นอกจากนี้ที่พิเศษในครั้งนี้คือเสาโคมครั้งนี้จะใช้เสาครุฑ เพราะครุฑคือพาหนะของพระนารายณ์ ในแนวคิดสมมุติเทพนั้น พระนารายณ์อวตารลงมาเป็นพระมหากษัตริย์ ส่วนขนาดของพระเมรุมาศในครั้งนี้จะใหญ่กว่า 4 ครั้งหลังที่ผ่านมา มีฐานกว้างด้านละ 60 เมตร มีความสูงถึง 50.49 เมตร และจะมีอาคารประกอบต่างๆ ทั้งพระที่นั่งทรงธรรมที่มีขนาดความสูงถึง 20 เมตร สง่างามสมพระเกียรติ สำหรับการออกแบบภูมิทัศน์ก็จะมีการศึกษาเรื่องที่เกี่ยวกับโครงการต่างๆ ของพระองค์ เช่น กังหันชัยพัฒนา เครื่องดันน้ำ การปลูกหญ้าแฝก ฯลฯ จะถูกนำมาใช้ในการออกแบบและปรับปรุงภูมิทัศน์
ต่อมาคืองานเรื่องศิลปกรรม ไม่ว่าจะเป็นเทพ เทวดา สัตว์หิมพานต์ สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะยึดตามคติความเชื่อของระบบจักรวาล อันเกี่ยวกับสมมุติเทพทั้งหมด ซึ่งเป็นไปตามราชประเพณีที่มีมาตั้งแต่อดีต อย่างไรก็ตาม สำหรับการสร้างพระโกศจันทน์ ขณะนี้แบบเสร็จเรียบร้อยทั้งหมดแล้ว ซึ่งจะเป็นไปตามราชประเพณีทุกประการ ส่วนการสร้างพระโกศทองคำที่จะบรรจุพระบรมอัฐินั้น กำลังอยู่ในขั้นตอนการออกแบบ ส่วนการบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถ ราชยาน ก็จะมีการบวงสรวงในวันที่ 19 ธันวาคมนี้ โดยมี พล.อ.ธนะศักดิ์เป็นประธาน ซึ่งเป็นไปตามทำเนียมคติความเชื่อที่ก่อนจะดำเนินการสร้างจะต้องมีการบูรณะราชรถ ราชยาน ทั้งหมดจะต้องแล้วเสร็จก่อนเดือนกันยายน 2560
ทั้งนี้ ส่วนที่เกี่ยวข้องในการออกแบบ โดยทีมออกแบบพระเมรุบุษบก 9 ยอดนั้น ประกอบด้วย นายสตวัน ฮ่มซ้าย ผู้อำนวยการสำนักสถาปัตยกรรม นายธีรชาติ วีรยุทธานนท์ สถาปนิกของกรมศิลปากร และนายก่อเกียรติ ทองผุด นายช่างศิลปกรรม ส่วนพระที่นั่งทรงธรรม ซึ่งครั้งนี้จะมีขนาดใหญ่มากผู้ออกแบบประกอบด้วย นายจักรพันธ์ วัชระเรืองชัย น.ส.ชารินี อรรถจินดา และนายอาทิตย์ ลิ่มมั่น นอกจากนั้นก็จะเป็นกรมศิลปากรทั้งหมด ส่วนพระโกศจันทน์นั้นออกแบบโดยนายสมชาย ศุภลักษณ์อําไพพร นายช่างศิลปกรรมของสำนักช่าง 10 หมู่ กรมศิลปากร
ที่มา : http://www.matichon.co.th/