ตั้งแต่เดือนตุลาคม จนมาถึงเดือนมีนาคม จะเป็นช่วงเวลาที่ค่อนข้างจะเหมาะ ที่จะเดินทางไปยังดินแดนภารตะ ท่องเที่ยวสักการะตามรอยพระพุทธบาท เนื่องจากสภาพอากาศแถบโน้น ค่อนข้างจะลงตัว ถือว่าสบายๆเลยก็ว่าได้ ไฮซีซั่นของที่นี่ จะมีอุณหภูมิราวๆ 4 – 20 องศาเซลเซียส สำหรับผู้ที่เคยเดินทางไปแล้ว คงไม่ต้องปรับตัวอะไรมาก กับการเดินทาง แต่สำหรับคนที่ยังไม่มีประสบการณ์เกี่ยวกับอินเดีย ขอให้ทำการบ้านเสียหน่อย จะได้รับมือกับการกิน การนอน เพราะคงต้องปรับตัวเยอะทีเดียว
หลายๆคนคงได้ยินกิตติศัพท์ ถึงความดิบและโหด ในการเดินทางไปยังชมพูทวีป แต่ความไม่สะดวกสบายเหล่านี้ จะเป็นเครื่องพิสูจน์ความศรัทธาอย่างแท้จริง ที่ไม่ใช่เพียงแค่ลมปาก มันชัดเจนซะจน ไม่มีสิ่งใดที่จะชัดเจนไปกว่านี้อีกแล้ว คำบอกเล่าทั้งหลายทั้งปวง ไหนเลยจะชัดเจนเท่า การสัมผัสด้วยตัวเอง ผมรับรองครับว่า การตามรอยพระพุทธองค์ จะทำให้คุณประทับใจ โดยไม่มีวันลืมเลือน
เจ็ดตำบลโบราณ ในตำนานของพระพุทธประวัติ
1. ลุมพินีวัน (ประสูติ) ตั้งอยู่ในเขต แคว้นสักกะ ปัจจุบันเรียก รุมมินเด อยู่ที่ไภรวา แคว้นอูธ ประเทศเนปาล
2. คยา (สถานที่ตรัสรู้) อยู่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา แคว้นมคธ ปัจจุบันคือ อำเภอคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย
3. สารนาถ (แสดงปฐมเทศนา) ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แคว้นกาสี ในปัจจุบันคือ พาราณสี รัฐอุตตรประเทศ
4. นาลันทา (วิทยาลัยสงฆ์แห่งแรก) อยู่เมืองนาลันทา ซึ่งก็คือ อำเภอนาลันทา รัฐพิหาร ในประเทศอินเดีย
5. สาวัตถี (เมืองที่ประทับนานที่สุด) แคว้นโกศล ชมพูทวีป ทุกวันนี้ตั้งอยู่ที่ อำเภอสาวัตถี รัฐอุตตรประเทศ
6. ไวสาลี (สถานที่ปลงสังขาร) ในอดีตคือ เมืองไวสาลี แคว้นวัชชี ชมพูทวีป ปัจจุบันคือรัฐพิหาร ในอินเดีย
7. กุสินารา (ปรินิพพาน) สาลวโนทยาน แคว้นมัลละ ชมพูทวีป ปัจจุบันคือ อำเภอกุสินารา รัฐอุตตรประเทศ
ตลอดพระชนม์ชีพของพระพุทธเจ้า ได้ทรงอยู่ในดินแดนที่เรียกว่า ชมพูทวีป ดังที่ปรากฏไว้ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ โดยสถานที่ประทับของพระพุทธเจ้า ที่คุ้นเคยที่สุด คงหนีไม่พ้น สังเวชนียสถาน 4 ตำบล ซึ่งได้แก่ สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนา และ ปรินิพพาน และยังมี 7 ตำบลโบราณ ที่นักแสวงบุญทั้งหลาย มักจะไปสักการะเยี่ยมเยือน เพื่อความเป็นสิริมงคลแห่งชีวิต
<<<<<<<<<<<<<<<<<< All CREDIT : https://www.chocolad.co >>>>>>>>>>>>>>>>>>
<<<<<<<<<<<<<<<<<< All CREDIT : https://www.chocolad.co >>>>>>>>>>>>>>>>>>