ตามประวัติของ สถานีบางกอกน้อย หรือ สถานีธนบุรี ได้เกิดขึ้นในรัชสมัยของ พระพุทธเจ้าหลวง เมื่อปี พ.ศ. 2443 มีเอกสารหลายฉบับ ได้บันทึกไว้ว่า รัชกาลที่ 5 ได้ทรงเสด็จมาทรงเปิดสถานี และ พระราชทานชื่อว่า “สถานีบางกอกน้อย” เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2446 เพื่อใช้เป็นสถานีหลัก ในการเชื่อมโยงกับภาคใต้ และภาคตะวันตก ในสมัยนั้น หากจะเดินทางไปเพชรบุรี หัวหิน หรือ กาญจนบุรี ก็ต้องไปเริ่มต้นที่สถานีรถไฟแห่งนี้
ต่อมาในยุคสมัยของ รัชกาลที่ 6 ทรงได้โปรดเกล้าฯ ให้ “สร้างสะพานพระรามหก” ที่จังหวัดนนทบุรี อันเป็นสะพานรถไฟ เพื่อให้ขบวนรถไฟจากภาคใต้ สามารถเข้าสู่สถานีหัวลำโพง ได้โดยสะดวก จึงทำให้สถานีบางกอกน้อย ถูกลดบทบาทลง แต่ก็ยังคงมีขบวนของรถไฟธรรมดาๆ ประเภทรถเร็ว หรือ รถระยะสั้น ให้บริการอยู่
มาถึงยุคสงครามโลกครั้งที่2 กรมรถไฟ ได้เปลี่ยนชื่อสถานีแห่งนี้ จากสถานีบางกอกน้อย เป็น สถานีธนบุรี และได้กลายเป็นสถานีหลัก ของกองทัพญี่ปุ่นในเวลาต่อมา ตามแผนสร้างทางรถไฟ เพื่อเดินทัพต่อเข้าพม่าของฝ่ายอักษะ และ ใช้สถานีธนบุรีเป็นที่เก็บยุทธปัจจัย ตลอดจนวัสดุก่อสร้างต่างๆ ส่งผลให้สถานีรถไฟแห่งนี้ ถูกฝ่ายพันธมิตรโจมตีอย่างหนัก จนได้รับความเสียหายย่อยยับ
หลังสิ้นสุดสงครามโลกแล้ว กรมรถไฟ ก็ได้สร้างอาคารสถานีขึ้นมาใหม่ เป็นอาคารอิฐถือปูน ที่มีความสวยงามโดดเด่น มีหอนาฬิกาสูงเป็นสัญลักษณ์ และแล้ว สถานีธนบุรีก็เปิดทำการอีกครั้ง ในปี พ.ศ.2493 จนเมื่อปี พ.ศ.2542 การใช้สถานีก็ค่อยๆลดความสำคัญลง
เนื่องในวโรกาสที่ ในหลวงรัชกาลที่9 ทรงเจริญพระชนมพรรษา 72 พรรษา กระทรวงคมนาคม และ ส่วนราชการที่เป็นเจ้าของที่ดินรอบบริเวณดังกล่าว ก็ได้ร่วมกันปรับปรุงสถานีรถไฟธนบุรี ให้เป็นสวนสาธารณะ ที่จอดรถ และ มอบพื้นที่บางส่วนให้กับ โรงพยาบาลศิริราช เพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ โดยได้ทำการย้ายตัวสถานี ออกจากพื้นที่เดิม ไปประมาณ 1กิโลเมตร และปรับให้เป็นสถานีที่เล็กลง เพื่อเป็นปลายทางของรถไฟสายใต้ และ สายตะวันตก ที่ยังเหลืออยู่จำนวนหนึ่ง
ส่วนที่ดินโดยรอบบริเวณ รวมทั้งหมด33ไร่นั้น ได้มอบหมายให้แก่คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อนำไปพัฒนา ให้เป็นศูนย์กลางความเป็นเลิศ ด้านการวิจัยทางการแพทย์ และ เพื่อให้การบริการการแพทย์ ในระดับเอเชียอาคเนย์ จึงเป็นที่มาของการจัดตั้ง สถาบันการแพทย์สยามินทราธิราช อันเป็นส่วนหนึ่ง ของคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล
รถไฟขบวนสุดท้าย ที่ออกจากสถานีรถไฟธนบุรี คือขบวนรถไฟหมายเลข 253 สายธนบุรี-หลังสวน โดยออกจากสถานีธนบุรีเวลา 19.10 น. ในวันที่ 3 ตุลาคม 2546 จากนั้น ก็ได้ปิดการใช้สถานีอย่างเป็นทางการ ในปัจจุบัน คณะแพทยศาสตร์ ศิริราช ยังคงเก็บรักษาอาคารของสถานีรถไฟธนบุรี หรือ สถานีบางกอกน้อย ไว้เคียงคู่มากับโรงพยาบาล เพื่อที่จะให้เป็นอาคารพิพิธภัณฑ์ ของกิจการรถไฟสายใต้ และ สายตะวันตก
===============================================
Data
http://www.portal.rotfaithai.com
Photo
http://www.si.mahidol.ac.th/th/SMI/sayamin.html
http://oknation.nationtv.tv/blog/mindhand/
https://www.facebook.com/Thaitrainstory/
https://www.bloggang.com/karnoi
===============================================