เมื่อครั้งสมเด็จพระบรมศาสดาได้เสด็จจากเมืองสาวัตถี พร้อมด้วยพระอรหันต์ 500 รูป มาสู่เมืองธัญวดี จึงได้ทราบความว่า พระเจ้าจันทสูริยะแห่งเมืองธัญวดี มีความปรารถนาที่จะมานมัสการพระผู้มีพระภาคเจ้า แต่ทรงมิประสงค์ ที่จะให้พระเจ้าจันทสูริยะ ต้องข้ามป่าเขาลำเนาไพรซึ่งมีอันตราย จึงเสด็จไปด้วยพระองค์เอง
พอเสด็จมาถึงดอยเสละคีรี พระเจ้าจันทสูริยะ พร้อมด้วยพระมเหสี และ ข้าราชบริพารทั้งปวง ได้เข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จนเกิดมีฝุ่นควันคละคลุ้งปกคลุมท้องฟ้าจนมืดมิด ผู้คนต่างๆ.ก็ตื่นกลัวว่าเกิดเหตุอันใดขึ้น
พระเจ้าจันทสูริยะ ได้อาราธนาพระบรมศาสดา ไปประทับพระราชวังหลวงเป็นเวลานานถึง 7 วัน 7 คืน พร้อมกับประกาศพระธรรม ผู้คนจำนวนมากมาย รับพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง บัดนั้น พระศาสนาจึงตั้งมั่นในเมืองยะไข่
เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าจะเสด็จกลับ พระเจ้าจันทสูริยะจึงทูลขอ ว่าจะสร้างพระพุทธปฏิมาเสมือนรูปพระบรมศาสดา เพื่อเอาไว้เป็นที่สักการะกราบไหว้บูชา พระเป็นเจ้าจึงดำริอนุญาตให้หล่อองค์พระเสมือนรูปพระบรมศาสดา เมื่อสร้างแล้วเสร็จ จึงได้อัญเชิญไปประทับ ณ รัตนบัลลังก์ บนยอดปราสาทภายใต้วิหาร.เมืองธัญวดี
สมเด็จพระบรมศาสดา ทรงได้ทำการถ่ายทอดพระอัสสาสะไปสู่รูปพระปฏิมา ให้ประหนึ่งว่าเป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่สอง โดยประดิษฐานเอาไว้ ณ เมืองยะไข่ไปตราบ 5000 พระวัสสา แห่งศาสนาพระโคดม นับตั้งแต่บัดนั้น พระเจ้ากรุงยะไข่ต่างปรนนิบัติรูปพระมหามุนีมาทุกๆพระองค์ แม้จะผ่านยุคเข็ญมาหลายต่อหลายครั้ง
ครั้งหนึ่ง พระเจ้าอลองสิตูแห่งพุกาม ช่วยเจ้ากรุงยะไข่ชิงเมืองจากขบถ แล้วเสด็จมานมัสการพระมหามุนี ที่เมืองธัญวดี ทรงตั้งพระทัยจะย้ายพระปฏิมาไปพุกาม แต่ไม่สำเร็จ (ก่อนหน้านี้พระอัยกา คือ พระเจ้าอโนรธา ก็คิดจะย้ายเช่นกันแต่ก็ไม่สำเร็จ) ต่อมา พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ ได้ทรงครองสิริราชสมบัติ ก็มีดำริจะเคลื่อนย้ายพระมหามัยมนีไปประทับที่ กรุงตองอู ก็ไม่สำเร็จ จนเมื่อถึงแผ่นดินของพระเจ้าบุเรงนอง ก็ย้ายก็ยังไม่สำเร็จ
ตราบจนกระทั่ง ยุคของราชวงศ์คองบอง พระเจ้าปดุง แห่งอมรปุระ ได้ทรงให้พระราชโอรส ตะโดเมงสอ ไปตีเมืองยะไข่ ขณะนั้น พระมหามุนี ก็ยังประดิษฐาน ณ พระวิหารเจาก์ตอ (เสละคีรี) เมืองธัญวดี กองทัพเมืองอมรปุระ ได้ทำการเคลื่อนย้ายพระมหามุนี ข้ามเทือกเขาอาระกันโยมา พร้อมด้วยรูปสัมฤทธิ์ ซึ่งจากเมืองยะไข่ไปย้ายไปจากเมืองหงสาวดี และหงสาวดีได้ย้ายไปอโยธยา และจากอโยธยาก็ได้ย้ายไปสู่ เมืองพระนคร
มีบันทึกได้กล่าวว่า ที่ย้ายพระรูปสำเร็จ เพราะทัพอมรปุระ ตัดพระมหามุนีออกเป็น 3 ส่วน เมื่อพ้นเทือกเขาจึงได้กราบอัญเชิญรูปพระมหามัยมุนี ล่องทวนกระแสแม่น้ำอิรวดี แต่ชาวยะไข่เชื่อว่าพระมหามุนีองค์นี้ เป็นองค์จำลอง เพราะว่าองค์จริงได้ถูกซ่อนเอาไว้ ก่อนที่ทัพอมรปุระจะบุกมาชิงเมือง บ้างก็ว่า ขณะขนย้ายลงแพเกิดแพแตก พระมหามุนีจึงได้จมน้ำหายไป.เพราะไม่ยอมไปเมืองอมรปุระ จึงมีการสร้างองค์จำลองขึ้นมา
เมื่อไปถึงเมืองอมรปุระ พระเจ้าปดุง ทรงมีศรัทธาแก่กล้า จึงลงไปสู่แม่น้ำเพื่อทรงร่วมชักเรือพระที่นั่ง เชิญพระมหามุนีด้วยพระองค์เอง พอถึงแผ่นดินของ พระเจ้าปดุง พระเจ้ามินดง และ พระเจ้าตีบอ พระเจ้ากรุงอมรปุระ และ มันทลีรัตนบุระ ตามลำดับ ทุกๆพระองค์ต่างก็ทรงปรนนิบัติพระมหามุนี อย่างดีในทุกๆรัชกาล พร้อมสร้างพระวิหารอย่างสวยงาม แล้วยังทรงทำพิธีประกอบพระราชกุศล พร้อมถวายเครื่องสูงเป็นการบูชา
ปลายรัชกาลพระเจ้าตีบอ ได้เกิดเพลิงไหม้บริเวณวิหารของพระมหามุนี จึงสร้างพระวิหารใหม่ ด้วยการผสมผสานสถาปัตยกรรมตะวันตก แต่เครื่องบนเป็นทรงปราสาทอย่างเมืองพม่า ต่อมาพระเจ้าตีบอ ได้ถูกอังกฤษปลดจากราชบัลลังก์ พระองค์ขอไปนมัสการพระมหามุนี ก่อนที่จะถูกเนรเทศ .แต่ทางอังกฤษกลับไม่ยินยอม
ในช่วงที่เกิดสงครามโลก คณะสงฆ์ต่างก็ร่วมกันช่วยจัดเวรยามเฝ้าพระมหามัยมุนี ระหว่างสงครามมีกองทัพก๊กมินตั๋ง เข้ามาช่วยประเทศอังกฤษรบ ครั้นพอจะถอนตัวไป ทหารจีนก็จะเข้าปล้นพระวิหาร แต่พระสงฆ์นับพันถือกระบองไม้ป้องกันเพื่อขับไล่ และได้ขู่ว่า. หากจะคิดปล้นพระมหามุนี ต้องข้ามศพพระสงฆ์ไปเสียก่อน
===========================================================================
เขียนตำนานโดยสังเขปโดย Kornkit Disthan โดยผู้เขียนขอถวายเป็นพุทธบูชา
ติดตามอ่านฉบับเต็มได้ที่ >> www.facebook.com/notes/kornkit-disthan
ภาพโดย >> https://myanmartourism.info/places-to-see/mahamuni-pagoda.html
===========================================================================