ด้วยความร่วมมือกับ องค์กร Kasseler Kunstverein ประเทศเยอรมันนี หอศิลป์กรุงเทพฯ จึงได้นำเสนอนิทรรศการศิลปะไทยร่วมสมัยเป็นครั้งแรก ณ พิพิธภัณฑ์ Fridericianum ที่ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1779 นับเป็นสถาบันศิลปะแห่งแรก ที่จัดตั้งเพื่อสาธารณะ และยังเป็นสถานที่ที่จัดงาน Documenta ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1955
ความหวัง ภาวะดิ้นรน และ การเฉลิมฉลอง คือ ตรรกะในสรวงสวรรค์แห่งนี้ นิทรรศการนำเสนอ แนวความคิดในการทำความเข้าใจของมนุษย์ กับความสัมพันธ์ที่มีต่อสภาพแวดล้อมในการเปลี่ยนแปลง ผ่านวัฒนธรรมทางความคิด และบทสนทนาในผลงานศิลปะ ศิลปินของไทยทั้งหมดรวม 14 ท่าน ได้ผนึกกันร่วมนำเสนอปรากฏการณ์ไร้พรมแดน ที่ถูกรวบรวมชิ้นส่วนในการสื่อสาร ที่ได้พลัดหล่นจากความเข้าใจในชีวิตประจำวัน
เมื่อชุมชนและความคิดอันหลากหลาย เข้าประจันหน้าเข้าหาในสถานที่ และเวลาเดียวกัน จุดสำคัญเกิดขึ้นเมื่อ ภาษาในการสื่อสารไม่สร้างความหมาย และ ปรากฏการณ์ของ ‘ความไร้สาระ’ จึงเกิดขึ้น ในพิพิธภัณฑ์ Fridericianum แห่งนี้ ผลงานของศิลปินได้นำเสนอ ‘สาระในความไร้สาระ’ จากการเมืองในความทรงจำ เศษเสี้ยวจากข้อสงสัย ตำนานแห่งความเข้าใจ ปรัชญาในความหวัง และ ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนมนุษย์
นิทรรศการ ABSURDITY IN PARADISE เล่นไปกับความย้อนแย้งของเมืองไทย ในความหมายของสรวงสวรรค์แห่งการมาเยือนของนักท่องเที่ยว ด้วยผลงานวิดีโอ มีเดีย ภาพถ่าย และศิลปะการจัดวางทั้งหมด ได้ฉายให้เห็นถึง ภาวะอันหลากหลายที่เกิดในเมืองไทยปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องแบบนายพลที่ดูลางเลือนของ มานิต ศรีวานิชภูมิ การแสดงออกด้วยเส้นด้ายที่วนไม่รู้จบของ กวิตา วัฒนะชยังกูร หรือ ผลงาน “untitled 1994 (angst essen seele auf)” ของ ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช ซึ่งสร้างขึ้นจากภาพยนตร์ ‘Angst Essen See le Auf’ หรือ ‘Fear Eats Soul’ ของผู้กำกับชาวเยอรมัน Rainer Werner Fassbinder ที่สื่อสารความอ่อนโยนและโหดร้าย ระหว่างคนในและคนนอก นอกจากนี้แล้ว ยังเป็นการนำเสนอผลงานของศิลปินที่ทำงานเคลื่อนไหวในระดับสากลเช่น อริญชย์ รุ่งแจ้ง , ปรัชญา พิณทอง , กรกฤช อรุณานนท์ชัย และผลงานของศิลปินรุ่นใหม่อาทิเช่น ณัฐพล สวัสดี , อลิสา ฉุนเชื้อ , หฤษฎ์ ศรีขาว ซึ่งทั้งหมดข้างต้นนี้เป็นการนำเสนอผลงานที่ประกอบขึ้นเพื่อจุดประสงค์หลักคือ การทำงาน Kasseler Kunstverein ในครั้งนี้