ยานสำรวจอวกาศจูโน ได้พบข้อมูลใหม่ๆที่น่าแปลกใจ ของดาวพฤหัสบดี และ การค้นพบดวงจันทร์บริวารใหม่อีก2ดวง ของดาวพฤหัสบดี โดยข้อมูลล่าสุด ที่ได้จากยานอวกาศจูโน ทำให้นักดาราศาสตร์ ได้คลายข้อสงสัยบางส่วน เกี่ยวกับธรรมชาติ ของดาวพฤหัสบดีที่ ยังไม่มีใครล่วงรู้มาก่อน คือ..
1. แถบบริเวณเส้นศูนย์สูตร ของดาวพฤหัสบดี มีแก๊สแอมโมเนียเข้มข้นสูง และ อยู่ลึกลงไปถึง สามร้อยกิโลเมตร (อันที่จริงแล้ว นักดาราศาสตร์ได้เคยล่วงรู้มาก่อนแล้ว ว่าชั้นบรรยากาศของดาวพฤหัสบดี ห่อหุ้มด้วยแก๊สแอมโมเนีย แต่ไม่เคยพิสูจน์ได้มาก่อน ว่าอยู่ลึกแค่ไหน?) นอกจากนี้แล้ว สำหรับบางบริเวณ มีการพบแก๊สแอมโมเนียน้อยมาก จึงทำให้เกิดข้อสันนิษฐานที่ว่า บนดาวพฤหัสบดีอาจมีแอมโมเนียเป็นปัจจัยหลัก ในการเกิดระบบฤดูกาลก็เป็นได้
2. จากข้อมูลเบื้องต้น การวัดความโน้มถ่วงของดาวพฤหัสบดี ทำให้นักดาราศาสตร์ค้นพบว่า โครงสร้างชั้นนอกของดาวดวงนี้ ไม่ได้มีความหนาแน่นที่สม่ำเสมอ อีกทั้งแก่นของดาวดวงนี้ อาจจะไม่ได้เป็นของแข็งชัดเจน เหมือนกับแก่นโลก แต่เป็นแก่นที่สสารกระจายตัว โดยไม่มีรอยต่อที่ชัดเจน
3. สนามแม่เหล็กที่ตรวจพบบนดาวพฤหัสบดี วัดค่าได้สูงมาก และกระจายตัวอย่างไม่สม่ำเสมอ ซึ่งมันมากกว่าที่เคยประมาณการณ์กันไว้ สนามแม่เหล็กในบริเวณที่ยานอวกาศจูโนวัดค่าได้ มีค่าประมาณ 8 ถึง 9 เกาส์ จากเดิมที่เคยเชื่อกันว่า มันน่าจะมีค่าเพียง 5 เกาส์เท่านั้น ความเข้มของสนามแม่เหล็กบ่งชี้ว่า แหล่งกำเนิดสนามแม่เหล็ก ซึ่งเกิดปรากฏการณ์ไดนาโมนั้น น่าจะอยู่ห่างจากแก่นมากกว่าที่เคยคิดกันไว้ อย่างไรก็ดี ความซับซ้อนและไม่สม่ำเสมอของมัน ทำให้ยานจูโนต้องเก็บข้อมูลเพิ่มเติม ในระหว่างที่ปฏิบัติภารกิจนี้
4. กล้อง จูโนแคม ได้ค้นพบพายุไซโคลน ที่ขั้วของดาวพฤหัสบดี ซึ่งตามรายงานที่เคยบันทึกไว้ ไม่เคยมีใครเคยพบพายุนี้มาก่อน ขนาดของพายุ ถูกประเมินอย่างคร่าวๆว่า บางทีอาจมีขนาดใหญ่โต พอๆกับโลกของเราเลย คงต้องติดตามกันต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้ข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนกว่านี้
อีกเรื่องที่สำคัญ ที่เกี่ยวุกับดาวพฤหัสบดีคือ Scott Sheppard นักดาราศาสตร์จากสถาบันวิทยาศาสตร์คาร์เนกี ได้ค้นพบดวงจันทร์บริวารของดาวพฤหัสบดี เพิ่มเติมอีก2ดวง ทำให้จำนวนดวงจันทร์ ของดาวพฤหัสบดีทั้งหมด ณ ตอนนี้อยู่ที่ 69ดวง โดยมีประกาศการค้นพบดวงจันทร์ S/2016 J 1 และ S/2017 J 1 ในหนังสือเกี่ยวกับฐานข้อมูลดาวเคราะห์น้อย ชื่อของดวงจันทร์เหล่านี้จะมีตัวอักษร S และ J ในชื่อดวงจันทร์ มาจากคำว่า Satellite (ดวงจันทร์บริวาร) และ Jupiter (ดาวพฤหัสบดี)
+++++++++++ ขอขอบคุณ ข้อมูล และ ภาพ จาก สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ +++++++++++