ความสัมพันธ์ยุคดิจิตอล มาเร็วเคลมเร็ว
ด้วยยุคสมัยที่อะไรๆ ก็มาเร็วไปเร็วยิ่งกว่าหน้าหนาวกรุงเทพฯ และถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีต่างๆทำให้ไลฟ์สไตล์ความสัมพันธ์ของคนเปลี่ยนแปลงไปตามเวลา รวมถึงการเลือกคู่ก็ขอหาเอาดื้อๆ จากโซเชียลนี่แหละ
เห็นได้ชัดว่ากลุ่มคนทุกเพศ ทุกช่วงอายุถูกแทรกซืมชีวิตประจำวันด้วยอุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ เช่นโทรศัพท์มือถือ แท็ปเล็ตฯลฯ มีอินเตอร์เน็ตช่วยเพิ่มความสะดวกสบายในการติดต่อสื่อสาร โดยเฉพาะวิถีชีวิตคนกรุง ทำงานหามรุ่งหามค่ำแข่งกับเวลาจนไม่มีเวลาดูแลแม้กระทั่งหัวใจตัวเองส่วนใหญ่ยังตกอยู่ในสภาวะสังคมก้มหน้าสนใจแค่จอสี่เหลี่ยมที่อยู่ในมือเท่านั้นโดยเน้นการพูดคุยเพื่อสร้างความสัมพันธ์แลกเปลี่ยนเรื่องงาน หาเพื่อน คู่รัก และคู่นอน
ปีที่ผ่านมาเป็นที่ฮือฮาหนักมาก เมื่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเปิดสอนหลักสูตรวิชาจีบ ถูกใจนักศึกษายกใหญ่ จนปีนี้ด้องเพิ่มคลาสการสอนเลยทีเดียว ล่าสุด อ.ธนิช สุนทรธนกุล ผู้สอนได้เปิดเผยถึงความสัมพันธ์ รวดเร็วของคนสมัยนี้ ว่าสื่อต่างๆมีส่วนเกี่ยวข้องเยอะ เมื่อเลือกคบกันเร็วแบบขาดสติ ความสัมพันธ์จึงเป็นไปอย่างฉาบฉวยจึงทำให้มีผลกระทบต่อสภาพจิตใจและการทำงานได้ ที่สำคัญไม่สมารถปฎิเสธ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีได้ ต้องเข้าใจและปรับตัวตามให้ทัน
อ.ธนิช ให้ความเห็นเพิ่มเติมอีกว่าการมีปฏิสัมพันธ์กันทางโซเชียลสามารถทำได้ไม่ใช่เรื่องผิดแปลก แม้บางครั้งรู้จักกันแค่ผิวเผิน ดังนั้นต้องพัฒนาความสัมพันธ์จากออนไลน์เป็นออฟไลน์ให้ได้ คือต้องเจอตัวจริงก่อน ถ้ารู้ตัวแล้วว่าอยากจีบใครเป็นแฟน ให้ตั้งเป้าไว้แค่ฐานะเพื่อน แล้วค่อยพัฒนาความสัมพันธ์จะดีกว่า
ทางด้าน พรูเด็นเชียล หนึ่งในผู้ให้บริการด้านประกันชีวิตชั้นนำของโลก ได้เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของชาวไทยในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะในยุคดิจิตอล ซึ่งระบุว่าคู่รักคนไทยมีปากเสียงกันบ่อยที่สุดในเอเชีย และสมาร์ทโพนได้กลายเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการทะเลาะกันของคู่รัก นอกเหนือจากเรื่องเงิน เหล้าและบุหรี่ โดยคนไทยมากกว่าครึ่งระบุว่าคู่รักของตนชอบใช้เวลากับโทรศัพท์มือถือมากกว่าใช้เวลากับแฟน
ประกอบกับ เพ็ญภพ พันธ์เสือ ซีอีโอบริษัทให้คำปรึกษาด้านการหาคู่ Luxury Matching Profile เสริมว่ามีคนโสดอายุตั้งแต่ 22-45 ปี ที่พร้อมทั้งฐานะทางการเงิน การงาน หน้าตาและนิสัย ไม่ใช่ว่าไม่สามารถหาแฟนได้แต่เมื่อลองคบ แล้วกลับไม่ประสบความสำเร็จ ทุกคนจึงยอม จ่ายเงินเพื่อให้ได้พบคู่ครองที่สมฐานะกับตัวเอง โดยอ้างอิงจากโปรไฟล์ของตัวเอง เช่น ถ้าหากเงินเดือน 50,000 ขึ้นไป คู่ครองจะต้องมีเงินที่เท่ากันหรือมากกว่า และไลฟ์สไตล์จะต้องตรงกันที่สุด หากถึงขั้นออกเดทแล้ว แต่ยังไม่ได้คนที่ถูกใจก็อาจจะยอมจ่ายเงินเพิ่มขึ้น ซึ่งก็ต้องดูให้ดี เพราะบางทีอาจจะมี สาวๆ หรือหนุ่มๆ ที่ใช้ช่องทางนี้เพื่อหาประโยชน์แอบแฝง หรือมีความสัมพันธ์ชั่วคราวแบบ จบ จ่าย และแยกย้าย
ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าการเลือกคู่แบบฉับไวสั่งได้ทันใจ ของคนสมัยนี้เน้นที่กระแสสังคมหรือพูดง่ายๆ คือมองแค่เปลือกนอก ก็สามารถตัดสินใจได้แล้วว่าคนที่จะมาเป็นคู่ครองของตนเองดีร้ายอย่างไร ไม่ถูกใจก็แค่หาใหม่ไปเรื่อยๆนับว่าสะท้อนถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนโสดสมัยนี้ได้เป็นอย่างดี
ขอบคุณข้อมูล: BLT