การระแวดระวังเป็นเรื่องดีครับ แต่ทั้งนี้ก็ต้องตั้งอยู่ในหลักของเหตุผล ถ้าจะลองใช้สติพินิจพิจารณา ก็พอจะทราบได้ไม่ยากว่าข้อความเหล่านั้น มีแหล่งที่มาจากทางไหน? ถ้าเป็นเรื่องที่เล่าปากต่อปาก ก็ควรตีตกไว้ก่อน หรือ ถ้าเป็นแหล่งข่าวที่ไม่มีหัวนอนปลายเท้า อันนี้ก็ต้องดูอีกทีว่า อ้างอิงมาจากทางไหน? แล้วเข้าไปดูที่อ้างอิงอีกทีว่ามีสังกัดหรือไม่อย่างไร? แต่ถ้าหากมันซับซ้อนเกินไป เอาแบบนี้ละกันครับ ผมขออนุญาตแนะนำให้ลองติดตามจาก ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เพียงช่องทางเดียว.ก็น่าจะเพียงพอ
สำหรับท่านที่ชักไม่แน่ใจว่าเรื่องที่เขาบอกต่อ ๆ กันมานั้นจริงเท็จแค่ไหน ผมขอนำเสนอข้อหลัก ๆ มาไว้ที่นี้
1. ถ้าฉีดแอลกอฮอล์ใส่หน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว จะนำมาใช้ใหม่ได้
ไม่จริง : นี่คือสิ่งที่ไม่สมควรทำอย่างยิ่ง เพราะด้านหน้าของหน้ากากจะมีการเคลือบสารกันซึมไว้
ดังนั้น การฉีดแอลกอฮอล์ใส่หน้ากากอนามัย จะทำให้คุณสมบัติของสารกันซึมนั้นเสื่อมประสิทธิภาพลง
ทำให้หน้ากากนั้นมีความเสียหาย และหากเกิดการรั่วซึม ก็ไม่สามารถป้องกันฝุ่นหรือว่าเชื้อโรคได้
2. สำหรับคนไม่มีไข้ ไม่ได้หมายความว่าจะปลอดเชื้อโควิด-19
จริง : ระยะเริ่มต้นของโรค ในช่วงเชื้อไวรัสฟักตัว ผู้ป่วยร้อยละ 50 อาจไม่มีไข้ได้
แต่หากเข้าสู่ระยะที่เป็นมากขึ้น หรือต้องนอนโรงพยาบาล ผู้ป่วยกว่าร้อยละ 90 จะมีไข้ชัดเจน
ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับระยะของโรค หากเป็นวันแรก ๆ การตรวจวัดอาจไม่พบไข้ก็เป็นได้
3. สามารถลดความเสี่ยงในการติดเชื้อฯ จากการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่
ไม่จริง : วัคซีนไข้หวัดใหญ่สามารถป้องกันได้เฉพาะโรคไข้หวัดใหญ่เท่านั้น และในปัจจุบัน
ก็ยังไม่มีมีรายงานใด ๆ รับรองว่าสามารถป้องกันโควิด-19 ได้ ส่วนในเรื่องของวัคซีนรักษาโควิด-19
ยังอยู่ในขั้นตอนของกระบวนการวิจัย ศึกษา ค้นคว้า ซึ่งอาจต้องใช้เวลานานอีกหลายเดือน
4. ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ สามารถป้องกันโควิด-19 ได้
ไม่จริง : การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ เหมาะกับคนที่มีอาการเป็นภูมิแพ้ และ คนที่มีอาการคัดจมูก
หรือเป็นไซนัสอักเสบ แต่ยังไม่มีข้อมูลการศึกษาวิจัยที่บอก ว่าการล้างจมูกจะช่วยป้องกันโควิด-19 ได้
5. การกินวิตามิน หรือ สมุนไพร จะช่วยป้องกันการติดเชื้อ
ไม่จริง : อย่างที่บอกไปเบื้องต้นว่าในขณะนี้ ไม่มีวิตามินหรือสมุนไพรที่ช่วยป้องกันโควิด-19
เพราะกำลังอยู่ในกระบวนการศึกษาวิจัย ดังนั้นแล้ว จึงไม่สามารถช่วยป้องกันได้ตามที่มีผู้กล่าวอ้าง
6. คุณยังปลอดเชื้อ ถ้ากลั้นหายใจได้เกิน 10 วินาที แล้วไม่รู้สึกผิดปกติ
ไม่จริง : การกลั้นหายใจไม่สามาถบ่งชี้ได้ว่าเป็นโควิด-19 หรือไม่ รวมถึงแอปพลิเคชัน
หรือเหล่าบรรดาวิธีการเช็กลิสต์ต่าง ๆ ที่ออกมาตามโซเชียลมีเดียนั้น ก็ไม่สามารถตรวจสอบได้
ที่ถูกคือ ต้องนำข้อมูลจากอาการและความเสี่ยงที่เข้าเกณฑ์มาประกอบกัน เพื่อพิจารณา
7. คนทั่วไป ไม่มีความจำเป็นต้องซื้อหาหน้ากาก N95 มาใช้งาน
จริง : เพราะหน้ากาก N95 ไม่ได้ถูกออกแบบมา เพื่อให้คนทั่วไปนำมาใส่ในชีวิตประจำวัน
หรือใส่เป็นเวลานาน ๆ เพราะเป็นหน้ากากชนิดพิเศษ ที่มีคุณสมบัติในการป้องกันเชื้อโรคได้สูง
เมื่อใส่นาน ๆ จะรู้สึกอึดอัด ดังนั้นจึงเหมาะสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ที่ต้องเข้าไปใกล้ชิดกับผู้ป่วย
ส่วนคนทั่วไป ที่ไม่ได้ติดเชื้อฯ สามารถใช้หน้ากากผ้าได้ เพราะประหยัดและนำกลับมาใช้ซ้ำได้
8. หากเคยเป็น โควิด-19 แล้ว ร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานขึ้นมา
จริง : โดยหลักการของการติดเชื้อไวรัส เมื่อหายดีแล้ว จะมีภูมิคุ้มกันหรือภูมิต้านทานจริง
เพื่อป้องกันการกลับเป็นโรคซ้ำ โดยระบบของร่างกาย แต่ จะประมาทไม่ได้ เพราะยังต้องศึกษาเพิ่มเติม
หากมีการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส บางทีก็อาจมีโอกาสที่จะกลับมาเป็นซ้ำได้ จึงยังควรจะป้องกัน
9. ล้างมือด้วยสบู่ สามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้ดีกว่าเจลแอลกอฮอล์
ไม่จริง : สำหรับการล้างมือด้วยสบู่ หรือ เจลแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้น 70% ขึ้นไปนั้น
มีประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อฯได้เท่าเทียมกัน แต่เมื่อนำมาเปรียบ ก็จะมีข้อดีแตกต่างกันเล็กน้อย
สบู่จะสามารถใช้เวลาชำระล้างได้นานกว่า จึงสะอาดหมดจดกว่า แต่ต้องใช้น้ำประกอบ
ส่วนเจลแอลกอฮอล์ เหมาะที่จะพกพา สำหรับผู้ที่จำเป็นต้องเดินทางในระหว่างวัน
.
ข้อมูลโดย ศ. พญ.ศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
.
data credit : https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/home/article/มัดรวมมาให้-9-ความเชื่อ..
photo credit : https://assets.bwbx.io/images/users/iqjWHBFdfxIU/iimMUZ1FqZps/v1/1000x-1.jpg
ชมคลิปจาก RAMA CHANNEL ตอน : ความเชื่อเกี่ยวกับโควิด >>> https://youtu.be/n33qb81JqC0
======================================================================================================================================================