ประกาศสงกรานต์ จุลศักราช ๑๓๘๐ พุทธศักราช ๒๕๖๑ ปีจอ สัมฤทธิศก จันทรคติเป็น อธิกมาส ปกติวาร สุริยคติเป็น ปกติสุรทิน
สมฺผุส ณ วันมหาสงกรานต์ ตรงกับ วันเสาร์ที่ ๑๔ เมษายน เวลา ๙ นาฬิกา ๑ นาที ๔๘ วินาที จันทรคติ ตรงกับ วันเสาร์ แรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๕ ปีจอ พระอาทิตย์ยกเข้าสู่ราศีเมษ ๐ องศา ๐ ลิปดา
สมฺผุส ณ วันเถลิงศก ตรงกับ วันจันทร์ที่ ๑๖ เมษายน เวลา ๑๒ นาฬิกา ๕๙ นาที ๒๔ วินาที จันทรคติ ตรงกับ วันจันทร์ ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๖ ปีจอ พระอาทิตย์ยกเข้าสู่ราศีเมษ ๒ องศา ๗ ลิปดา
นางสงกรานต์นามว่า นางมโหธรเทวี ทรงพาหุรัด ทัดดอกสามหาว อาภรณ์แก้วนิลรัตน์ ภักษาหารเนื้อทราย หัตถ์ขวาทรงจักร หัตถ์ซ้ายทรงตรีศูล เสด็จยืน มาเหนือหลังมยุรา เป็นพาหนะ เกณฑ์พิรุณศาสตร์ปีนี้ พุธ เป็นอธิบดีฝน บันดาลให้ฝนตก ๖๐๐ ห่า ตกในเขาจักรวาล ๒๔๐ ห่า ตกในป่าหิมพานต์ ๑๘๐ ห่า ตกในมหาสมุทร ๑๒๐ ห่า ตกในโลกมนุษย์ ๖๐ ห่า เกณฑ์ธาราธิคุณ ชื่อ เตโช (ธาตุไฟ) น้ำน้อย อากาศยังร้อน เกณฑ์ธัญญาหาร ชื่อ ลาภะ ข้าวกล้าในนา จะได้ ๑๐ ส่วน เสียเพียงส่วนเดียว ธัญญาหาร มังสาหารบริบูรณ์ ประชาชนทั้งหลายจะอยู่เย็นเป็นสุขฯ เกณฑ์นาคราชให้น้ำ ปีจอ นาคราชให้น้ำ ๗ ตัว ทำนายว่า ฝนต้นปีน้อย กลางปีงาม แต่ปลายปีมากแลฯ
สงกรานตะ และ สงกรานติ คือ สงกรานต์ ในภาษาไทย เป็นคำนาม หมายถึง ช่วงเวลาขึ้นปีใหม่ เพราะ สงกรานต์ แปลว่า ย้ายแล้ว หรือ ผ่านแล้ว
คำว่า “สงกรานต์” ที่เราใช้นี้ มาจากภาษาสันสกฤต สํกฺรานฺต संक्रान्त หรือ จะเขียน สงฺกฺรานฺต सङ्क्रान्त ก็ได้ ส่วนประกอบของคำ มาจากธาตุ กฺรมฺ แปลว่า ก้าว เข้าไป ข้าม ไปหา ฯลฯ เติมอุปสรรค สมฺ ข้างหน้า เมื่อมีพยัญชนะตามมา ลดรูป มฺ เป็น อนุสวาร (นิคหิต) > สํกฺรมฺ เติม –ต ข้างท้ายบอกอาการในอดีต ใช้เป็นคุณศัพท์ (adjective) แปลง มฺ เป็น นฺ และยืดเสียงอะเป็น อา > สํกฺรานฺต กลายเป็นคำนาม หมายถึง จุดเปลี่ยนผ่าน ในตำราโหราศาสตร์ จะหมายถึง จุดเปลี่ยนราศี หรือ ตำแหน่งที่เปลี่ยนช่วงเวลา เป็นตำแหน่งที่ดวงอาทิตย์ กำลังจะเคลื่อนไปยังราศีใหม่ ปีหนึ่งจึงมีหลายสงกรานติ (๑๒ ครั้ง)
จึงมีคำเพื่อระบุเหตุการณ์เฉพาะ นั่นคือ มหาสํกฺรานฺติ महासंक्रान्ति ในตำราโหราศาสตร์อินเดียว่า มหาสํกฺรานฺติ (มหาสงกรานติ) คือช่วงที่ดวงอาทิตย์ เคลื่อนเข้าราศีหลัก ในภาษาไทยใช้คำว่า สงกรานต์ หมายถึงช่วงที่ดวงอาทิตย์ กำลังจะผ่านราศี ช่วงนี้เรียกอีกอย่างว่า เมษสํกฺรานฺติ เพราะดวงอาทิตย์ เคลื่อนเข้าราศีเมษ ตรงกับช่วงสงกรานต์ของเรา คือราวกลางเดือนเมษายน
================================ CREDIT ================================
https://www.facebook.com/von.richthofen.7
www.myhora.com/ปฏิทิน/ประกาศสงกรานต์-พ.ศ.2561
https://www.facebook.com/Thawatchai.D
https://fr.m.wikipedia.org/wiki/Fichier:Aries_zodiac_sign
https://i1.wp.com/www.have2post.com/wp-content/
========================================================================