สังคมไทยเดี๋ยวนี้เต็มไปด้วยคนเลือดร้อน ที่เอะอะๆ ก็ “กราบ” ตั้งแต่แอร์โฮสเตสกราบลูกของผู้โดยสารที่เป็นเด็กออทิสติก และล่าสุดคือคนขับรถเฉี่ยวชนต้องไปกราบรถหรู ทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะความอารมณ์ร้อน โกรธจนไม่ลืมหูลืมตา และคิดว่าการ “กราบ” หรือการที่อีกฝ่ายยอมศิโรราบให้ จะทำให้เรารู้สึกดีขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้วก็หาได้เป็นอย่างนั้นไม่ สิ่งที่ได้มีแต่ความสะใจเท่านั้น..
ดังนั้น หากเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ต้องมีเหตุไม่สบายใจ โกรธกับการกระทำของอีกฝ่าย แต่ไม่อยากแสดงความก้าวร้าวออกไป เพราะอาจทำให้เรื่องบานปลายได้ เรามีเคล็ดลับง่ายๆ มาให้ลองฝึกกันครับ..
1. นับ 1 ถึง 10
วิธีง่ายๆ คือ ก่อนที่เราจะเอ่ยปากด่า หรือเดินเข้าไปทำร้ายใครอย่างที่สมองสั่ง ลองบังคับตัวเองหายใจเข้าออกลึกๆ แล้วนับ 1 ถึง 10 ช้าๆ สติอยู่ที่ตัวเลขที่นับ ลืมคำพูด และความคิดต่างๆ ที่เข้ามาในหัวเมื่อกี้ออกไปทั้งหมด เหมือนกับการทำสมาธินั่นแหละครับ..
2. ทำหูทวนลม
ในระหว่างที่เรากำลังให้เวลาเยียวยา ปัดเป่าความโกรธ อีกฝ่ายอาจยั่วโมโหเรามากขึ้นด้วยถ้อยคำ และการกระทำที่หยาบคายเพิ่มเติม ดังนั้นถ้าในสถานการณ์นั้น เราสามารถปิดหู ปิดตาได้ ให้ปิดให้หมด อย่าฟัง อย่าเห็นอะไรที่จะบันดาลโทสะเราเพิ่มเติม ตั้งหน้าตั้งตานับเลขไปก่อน..
3. ทำอะไรให้ช้าลง
เหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้น เป็นเพราะเราหุนหันพลันแล่น ปล่อยให้อารมณ์ควบคุมการกระทำทุกอย่าง โดยไม่ได้ผ่านสมอง เพราะฉะนั้นลองทำอะไรให้ช้าลง พูดช้าลง เดินให้ช้าลง ทำช้าลง ต่อให้โกรธแค่ไหนก็ต้องบังคับตัวเองให้พูดช้าลง ทุกๆ คำที่พูดพยายามกลั่นกรองคำออกมาจากสมองเสียก่อน ว่าเป็นคำที่เหมาะสมกับสถานการณ์นั้นๆ หรือไม่ พูดไปแล้วจะได้อะไรดีๆ กลับมาหรือไม่ หากพูดเพราะเพียงอารมณ์ เลือกแต่คำหยาบคาย หรือตั้งใจกระแนะกระแหนใคร ให้เก็บคำเหล่านั้นไว้ในใจก่อน..
4. นึกถึงคนอื่น นอกจากตัวเอง
เมื่อมีอารมณ์โกรธ เรามักนึกถึงแต่ตัวเอง โดยไม่สนใจผู้อื่น นอกจากไม่สนใจคู่กรณีว่าเขาจะมีเหตุผลใดๆ ที่เราไม่ทราบแล้ว ยังลืมนึกถึงคนที่เรารักอีกมากมาย ที่จะได้รับความเดือดร้อนจากการกระทำของเรา พ่อ แม่ พี่ น้อง ญาติ เพื่อน คนสนิทต่างๆ อาจได้รับความอับอายจากการกระทำที่พวกเขาไม่ได้มีความเกี่ยวข้อง หรืออาจต้องเดือนร้อนดูแลรักษาพยาบาลเรา ไปประกันตัวเราจากสถานีตำรวจ หรือชดใช้ค่าเสียหายให้กับคู่กรณี ทั้งหมดจะเกิดขึ้นจากความโกรธเพียงเสี้ยววินาทีจริงๆ
5. ขอเวลาสงบสติอารมณ์
หากในสถานการณ์ตรงหน้าไม่ช่วยให้เราทำอะไรเหล่านั้นได้ อาจจะลองขอตัวเดินออกไปจากเหตุการณ์นั้น เพื่อหาที่เงียบๆ อยู่คนเดียว หรือกับคนที่เราไว้ใจ แล้วทำทุกอย่างตามข้อ 1-4 ที่ผ่านมา อาจใช้เวลา 10-30 นาทีก็ว่าไป บอกคู่กรณีให้เรียบร้อยว่าขอเวลาสักครู่ ให้ต่างคนได้พักหายใจหายคอสักครู่ รับรองว่าสติมาได้แน่ๆ
6. “ขอโทษ” ใช้ให้เป็น
คำง่ายๆ ที่หลายคนมักไม่ค่อยพูด เพราะมีทิฐิสูง การพูดขอโทษไม่ได้หมายความว่าเราเป็นฝ่ายผิดในเหตุการณ์นั้นเสมอไป เราอาจขอโทษที่ทำให้เราทั้งคู่เสียเวลา ขอโทษที่ก่อนหน้านี้แสดงอารมณ์ไม่ดีออกไป ขอโทษที่เมื่อกี้หนีออกมาก่อน ทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เราพูดขอโทษได้ เมื่อไรที่เราพูดขอโทษ อีกฝ่ายจะรู้สึกดีขึ้น อารมณ์เย็นขึ้น อาจประนีประนอมได้ง่ายขึ้นด้วย
7. รู้จัก “ให้อภัย”
คำนี้ดูเหมือนยากสำหรับหลายๆ คน แต่ในเหตุการณ์บางอย่างที่เล็กน้อย เราสามารถให้อภัยซึ่งกันและกันได้อย่างง่ายๆ และจะทำให้เรื่องราวปัญหาที่เกิดขึ้นได้รับการแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว เพียงเพราะเรามีใจ “ให้อภัย” ไม่ว่าบริการจะเสิร์ฟอาหารผิด โดนขับรถปาดหน้า หรือโดนคนแปลกหน้าเหยียบเท้า เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องเล็กน้อยที่เราสามารถดำเนินชีวิตต่อได้อย่างมีความสุข หากเราสามารถให้อภัย และปล่อยผ่านกับการกระทำเหล่านี้ไปได้
8. อยู่เฉยๆ ให้กฎหมายจัดการ
การใช้อารมณ์อยู่เหนือกฎหมาย คือนิสัยนักเลง บ้านเมืองเรามีกฎหมายที่สามารถเอาผิดผู้ที่กระทำความผิดได้ หากเรามั่นใจว่าเราไม่ได้ทำอะไรผิด เราควรอยู่เฉยๆ นิ่งๆ แล้วรอให้กฎหมายจัดการลงโทษผู้ที่กระทำความผิดเอง เพราะหากเรายิ่งพูด ยิ่งแสดงออกถึงอารมณ์โกรธมากเท่าไร อาจเสียรูปคดีจนเราต้องชดใช้ค่าเสียหายให้อีกฝ่ายทั้งๆ ที่เราไม่ผิดเมื่อนั้น
ที่มา : health.sanook.com