บรรยากาศความสำเร็จของเหล่าบัณฑิตในพิธีประสาทปริญญาบัตรของสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา คือหนึ่งในเครื่องยืนยันความสำเร็จตลอดระยะเวลา 11 ปี ในการเดินหน้าผลิตบัณฑิตให้มีทักษะพร้อมทำงานทันที หรือ Ready to work การผลิตบัณฑิตให้มีทักษะดังกล่าวได้ มาจากการมองเห็นบริบทความเปลี่ยนแปลงของสังคม และปรับแผนการผลิตบัณฑิตให้เท่าทันความเปลี่ยน แปลงนั้นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งรวมถึงความเปลี่ยนแปลงในยุค “Disruptive Technology”
รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) เปิดเผยว่า ยุค Disruptive Technology ทำให้ตลาดงานเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ในอนาคตตำแหน่งงานจำนวนมากมีโอกาสถูกเครื่องจักรอัตโนมัติ (Automation) เข้ามาแทนที่ ดังนั้น การจะผลิตบัณฑิตให้มีทักษะ Ready to work ได้นั้น ต้องผลิตให้มี 4 คุณลักษณะที่เครื่องจักรหรือหุ่นยนต์ไม่สามารถเข้ามาแทนที่ได้ อันได้แก่ 1.ความมุ่งมั่น (Determination) 2.แรงบันดาลใจ (Inspiration) 3.จินตนาการ (Imaginary) 4.วิสัยทัศน์ (Visionary) “สิ่งที่มนุษย์มี แต่หุ่นยนต์ไม่มี คือจิตวิญญาณ ความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ มุมมอง ดังนั้น นอกเหนือจากความรู้เรื่องเทคโนโลยีสมัยใหม่แล้ว การจะผลิตบัณฑิตไม่ว่าคณะใดก็ตามของพีไอเอ็ม จึงพยายามให้บัณฑิตทุกคน รวมถึงผู้สำเร็จการศึกษาทุกระดับชั้นปีนี้ 1,812 คน มี 4 คุณลักษณะข้างต้น เพื่อให้หุ่นยนต์ไม่สามารถมาแทนที่ได้” ขณะเดียวกัน พีไอเอ็มยังให้ความสำคัญกับเรื่อง “ความยืดหยุ่น” หรือ Flexibility ให้คณะต่างๆ ได้ผนึกกำลังกันทางวิชาการ ให้เกิดการรวมหมู่ (Synergy) เช่น ให้เกิดการเรียนร่วมกันระหว่างด้านวิศวกรรมกับเกษตรกรรม วิศวกรรมกับบริหารธุรกิจ แม้กระทั่งเทรนด์จากต่างประเทศเองก็จะเห็นได้ชัดว่า มีการยุบรวมคณะมากขึ้น แทนที่จะเป็นการแยกคณะ “ในยุค Disruptive Technology จะเป็นยุคที่สาขาวิชาต่างๆ พร่ามัวมาก เพราะโลกยุคถัดจากนี้ ถ้าเชี่ยวชาญแค่ด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป ก็จะทำให้ขาดความยืดหยุ่น ไม่สามารถผนึกศาสตร์ความรู้ต่างๆ เข้าด้วยกันได้ ดังนั้น เวลาเราผลิตคณะต่างๆ เราจึงมองด้วยว่าเรียนศาสตร์นี้เพื่อไปทำอะไรต่อ เช่น เรียนภาษา เราไม่ได้เรียนเพื่อแค่ใช้ภาษานั้นเฉยๆ จึงต้องมีสาขาที่เกี่ยวกับภาษาเพื่อธุรกิจ บุคลากร คณาจารย์ของเราต้องประชุมกันเป็นประจำ เพื่อผลิตบัณฑิตที่เป็นที่ปรารถนาของทั้งองค์กร สังคม และประเทศชาติ” ทั้งนี้ กลไกสำคัญของพีไอเอ็มในการผลิตบัณฑิตให้ตอบโจทย์ความเปลี่ยนแปลงของยุค มาจาก 2 ส่วน ได้แก่ 1.การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งองค์กรธุรกิจ (Corporate University) 2.การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการสร้างเครือข่าย (Networking University) เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ควบคู่กับการปฏิบัติจริง โดยปัจจุบันแต่ละหลักสูตรของคณะจะมีภาคทฤษฎีประมาณ 50-60% ของหลักสูตร และภาคปฏิบัติอีก 40-50% ของหลักสูตร ซึ่งแต่ละหลักสูตรได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายพันธมิตรจากทั่วโลก นักศึกษาจึงได้มีโอกาสเข้าไปทำงานภายในองค์กรต่างๆ ระหว่างที่ศึกษาอยู่ จนเกิดเป็นประสบการณ์จริง เข้าใจความต้องการของผู้ประกอบการ ทำให้บัณฑิตที่จบจากสถาบันมีคุณสมบัติตรงตามความต้องการของภาคธุรกิจ
อาจารย์มนตรี คงตระกูลเทียน คณบดีคณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร กล่าวว่า ที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าปัญหาหนึ่งของการผลิตบัณฑิตภาคการเกษตรไทยคือ ผลิตโดยให้รู้แต่เรื่องต้นน้ำ ทำให้บัณฑิตที่จบออกมาขาดศักยภาพ ขาดทักษะการเชื่อมโยง ผลิตพืชผลทางการเกษตรออกมามากกว่าความต้องการตลาด ผลิตแล้วขาดคุณภาพ การจะผลิตบัณฑิตด้านการเกษตรให้ประสบความสำเร็จ จึงต้องผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ครบเครื่อง เข้าใจทั้งเรื่องต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ “เรานำ 3 เรื่องมาบูรณาการกัน ทั้งนวัตกรรม การจัดการ และเกษตรกรรม ด้านนวัตกรรมก็ต้องเข้าใจทั้งเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ Climate Change ต้องเข้าใจเรื่องการอ่านแผนที่ดาวเทียม เพื่อให้ประเมินได้ว่าควรจะทำการผลิตช่วงไหน ด้านการจัดการก็ไม่ใช่แค่การจัดการเรื่องการเกษตร แต่รวมถึงเรื่องการบริหารจัดการที่เป็นเชิงธุรกิจด้วย เราจึงมีการจับมือกับพันธมิตร เช่น สำนักงานเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ศาสตร์ที่จำเป็นและทันต่อความเปลี่ยนแปลง” สำหรับคณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร ก่อตั้งขึ้นในปี 2556 โดยมีบัณฑิตสำเร็จการศึกษารุ่นแรกคือบัณฑิตรุ่นจบปีการศึกษา 2559 ปัจจุบัน บัณฑิตล้วนมีงานทำอยู่ในบริษัทและองค์กรชั้นนำ เช่น บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด
ด้านอาจารย์ทิพวรรณ อภิวันท์วรรัตน์ คณบดีคณะศิลปศาสตร์ พีไอเอ็ม กล่าวว่า จากการสำรวจความต้องการของสถานประกอบการที่ต้องการบุคลากรด้านภาษา พบว่า สถานประกอบการต้องการบัณฑิตที่มีทักษะใช้ภาษาได้แบบ 100% รู้และเข้าใจในงานที่ทำ เช่น บัณฑิตภาษาญี่ปุ่น ต้องรู้วัฒนธรรมญี่ปุ่น คณะจึงให้ความสำคัญกับการผลิตบัณฑิตที่ทั้งรู้ภาษาและเข้าใจวัฒนธรรมการทำงาน วัฒนธรรมทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเจ้าของภาษานั้นๆ “นอกเหนือจากแนวทางผลิตบัณฑิตของสถาบันแล้ว ปรัชญาหลักของคณะคือต้องผลิตบัณฑิตที่ คิดเป็น ทำงานเป็น ใช้ชีวิตเป็น เด่นภาษาและนวัตกรรม ปัจจุบัน บัณฑิตของเราจบออกไปแล้วประสบความสำเร็จ มีงานทำในตำแหน่งดีๆ องค์กรดีๆ บางคนเรียนจบไปแล้วมีเงินเดือนถึงราว 50,000 บาทต่อเดือน เพราะมีคุณลักษณะตรงตามความต้องการขององค์กร” สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) ได้รับการรับรองวิทยฐานะจากกระทรวงศึกษาธิการ ในปี 2550 ปัจจุบัน เปิดสอนในระดับปริญญาตรี-ปริญญาเอก ปริญญาตรี 10 คณะ ได้แก่ คณะบริหารธุรกิจ คณะการจัดการโลจิสติกส์และการคมนาคมขนส่ง คณะการจัดการธุรกิจอาหาร คณะศิลปศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ คณะนิเทศศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี คณะอุตสาหกรรมเกษตร และคณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร ปริญญาโท 4 สาขาวิชา ปริญญาเอก 1 สาขาวิชา และ 2 วิทยาลัยนานาชาติ มีวิสัยทัศน์ในการเป็น Corporate University ชั้นนำของอาเซียน มีองค์กรเครือข่ายที่ลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ร่วมกันเป็นพันธมิตร มากกว่า 125 แห่ง อาทิ บริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด, บริษัท ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ จำกัด, สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) TCEB, บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด