ภาวะโลหิตจาง ก็คือ การที่ร่างกาย มีปริมาณเม็ดเลือดแดง น้อยกว่าปกติ โดยปกติแล้ว หน้าที่ของเม็ดเลือดแดงก็คือ นำออกซิเจน ไปเลี้ยงเซลล์ทุกส่วน ของร่างกาย เพื่อหล่อเลี้ยงเซลล์ไม่ให้ตาย การที่เซลล์ได้รับออกซิเจนไม่พอเพียง ผลที่ตามมาคือ จะทำให้ร่างกายอ่อนแรง รู้สึกเพลีย ขาดความสดชื่น ไม่มีเรี่ยวแรง หน้าตาซีดเซียว
ในปัจจุบัน แพทย์สามารถวินิจฉัยภาวะนี้ ได้จากการตรวจวัด ปริมาณของ ฮีโมโกลบิน ซึ่งเป็นสารประกอบหลัก ของเม็ดเลือดแดง (สารนี้ประกอบด้วย โปรตีน และ ธาตุเหล็ก ซึ่งทำหน้าที่ นำออกซิเจน ไปเลี้ยงเซลล์ทั่วทั้งร่างกาย) ว่ามีค่าเฉลี่ยอยู่ที่เท่าไหร่ สำหรับผู้ชาย ไม่ควรต่ำกว่า 13.5 กรัม ต่อเลือด 100 มล. และ ต้องไม่ต่ำกว่า 12 กรัม ต่อเลือด 100 มล. ในผู้หญิง
สาเหตุของความเสี่ยงต่อการเป็นภาวะโลหิตจาง จากการขาดธาตุเหล็ก เกิดขึ้นได้ดังนี้
– กินเนื้อสัตว์ นม ไข่ น้อยลง จากอาการเบื่ออาหาร เนื่องจากการเจ็บป่วย หรือ ไม่มีฟันบดเคี้ยวเนื้อสัตว์ และ ผักที่เหนียว ทำให้ร่างกายได้รับอาหารที่มีธาตุเหล็กไม่เพียงพอ จึงควรไปพบแพทย์ เพื่อตรวจสุขภาพ และขอคำแนะนำ
– มีการเสียเลือดเรื้อรัง เช่น เป็นริดสีดวงทวาร หรือ มะเร็งลำไส้ใหญ่ แล้วเกิดอาการถ่ายเป็นเลือดสด ในบางรายไม่ยอมบอกให้คนในครอบครัวทราบ จนเกิดเป็นอาการเรื้อรัง หรือ อยู่ในจุดที่มะเร็งลุกลามไปมากแล้ว จึงค่อยไปหาหมอ ทำให้มีความยุ่งยากในการรักษามากขึ้น
– มีอาการปวดเอ็นปวดข้อ ทำให้กินยาแก้ปวด หรือแก้ข้ออักเสบ เป็นประจำ จนทำให้เกิดผลข้างเคียงจากยา ทำให้กระเพาะอาหารอักเสบ เป็นแผล ส่งผลให้อุจจาระมีสีดำ (เกิดจากเลือด ที่หมักหมมระหว่างเดินทาง ลงมาที่ทวารหนัก)
มีผู้ป่วยสูงอายุหลายราย ไม่ทราบว่าอาการถ่ายดำ เกิดเพราะมีเลือดออก ในทางเดินอาหาร ปล่อยจนกระทั่งเสียเลือดมาก พออาการรุนแรง จนเห็นได้ชัด จากอาการอ่อนเพลีย หน้ามืด เวียนศีรษะ หรือ ใจสั่นใจหวิว จึงค่อยไปพบแพทย์
========================================
credit data >> facebook/folkdoctorthailand
credit photo >> https://kindnessblog.com
========================================