“ทำไมเด็กยุคใหม่ไม่อดทนเลย” คำพูดที่เรามักได้ยินอยู่บ่อยๆ ต่อการทำงานของเด็กรุ่นใหม่ หรือ Generation Z คือกลุ่มที่เกิดหลังปี ค.ศ.1995 ซึ่งพวกเขาจะเติบโตมาพร้อมกับสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายที่อยู่แวดล้อม มีความสามารถในการใช้งานเทคโนโลยีต่างๆ และเรียนรู้ได้เร็ว
‘ต้นเหตุสำคัญ’ ที่เป็นต้นน้ำของปัญหา ที่นำพาให้เด็กรุ่นใหม่ทำงานอยู่กับองค์กรได้ไม่ค่อยนาน มาแป๊บๆ แล้วก็พากันเดินจากไป ส่วนใหญ่แล้วเกิดจากเขาเหล่านั้นเห็นว่า เขาคงเปลี่ยนแปลงอะไรในองค์กรไม่ได้ เขาคงใช้ความรู้ความสามารถที่มีกับองค์กรนี้ ไม่ได้ !
สาเหตุส่วนใหญ่
1. วัฒนธรรมองค์กร วัฒนธรรมที่ก่อตัวจนกลายเป็น ประเพณีที่ไม่น่านิยม พลอยให้เกิดเป็นอุปสรรคในการทำงาน
2. ข้า (ค่า) นิยม ในองค์กรก็มีผล คนเก่าคนเก๋า คนรุ่นน้าทั้งหลาย ไม่เปิดใจยอมรับการเปลี่ยนแปลงง่ายๆ ยังยึดมั่นถือมั่นกับกรอบเก่าๆ หรือรูปแบบเดิมๆ ค่านิยมเดิมๆ หลายๆ เรื่องก็กลายมาเป็นอุปสรรคในการทำงานของเด็กรุ่นใหม่
3. ปัญหาเรื่องความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานที่ต่าง Generation กัน บางองค์กรขาดกระบวนการในการวางแผนการปรับเปลี่ยน การสอดประสาน หรือกลยุทธ์ในการรวมกันเป็นหนึ่งเดียว
4. กำแพงกั้นทางใจอันหนาเตอะของคนเป็นหัวหน้างาน หัวหน้าหลายๆ คน ไม่ยอมรับ ไม่กล้าให้เด็กใหม่ได้แสดงความสามารถ เพราะยังมองภาพเด็กเหล่านั้นอยู่ในชุดนักศึกษาวัยใส ไม่มีประสบการณ์ ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วมันอาจไม่ใช่อย่างนั้นเลย
หลายๆ องค์กร ต้องการการพัฒนา ต้องการความคิดสร้างสรรค์ อยากมีนวัตกรรม อยากได้อะไรที่สดใหม่ ที่ไม่เหมือนเดิม อันจะกลายเป็นจุดเปลี่ยน เป็นเหมือนสปริงบอร์ดขององค์กรในการทำธุรกิจและการแข่งขันทางด้านต่างๆ แต่ลืมไปว่า องค์กรเองก็ต้องจัดเตรียมสภาพแวดล้อมให้มันมีความเหมาะสม เอื้ออำนวย สนับสนุนให้เขาเหล่านั้น สามารถแสดงศักยภาพที่มีออกมาได้อย่างเต็มที่
เด็กยุคนี้เขาโตมากับเทคโนโลยี เขามุ่งที่ผลงานมากกว่าวิธีการที่ได้มา แค่คุณสื่อสารกับเขาให้ชัดเจน ปล่อยให้พวกเขาลองทำอะไรเจ๋งๆ ดู คุณอาจได้เห็นศักยภาพบางอย่างที่แทบจะไม่เชื่อสายตาตัวเองเลยก็ได้
ขณะที่รุ่นเก่าเก๋าๆ ในที่ทำงาน ก็อย่าลืมว่าคุณเป็นรุ่นพี่ ควรเป็นครูคอยสอน ไม่ใช่เจ้านายคอยสั่ง! เลิกบ่นจู้จี้เสียที องค์กรเองก็อาจต้องจัดเวลาเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับคนต่างวัย เตรียมสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม หาวิธีผ่อนคลายให้พวกเขาบ้าง
ขอบคุณข้อมูลจาก: ซื้อใจเด็ก Gen Z