เรียวมะ ถือเป็น วีรบุรุษคนหนึ่งที่ปราดเปรื่องของแดนปลาดิบ เขาเป็นผู้มองการณ์ไกล ด้วยแนวความคิดที่ว่า ญี่ปุ่นไม่ควรจะย่ำอยู่กับที่ ในระบบศักดินาเก่าที่ล้าหลัง เขาได้รับแรงบันดาลใจ จากการอ่านวลีแรก จากคำประกาศ อิสรภาพของสหรัฐอเมริกา ที่กล่าวว่า “All men are created equal” หรือ “มนุษย์ทุกๆคน ล้วนถูกสร้างขึ้นมาด้วยความเสมอภาค” (แรงขับเคลื่อนอีกส่วน น่าจะเกิดจากประสบการณ์ ที่ถูกกดขี่อย่างเลวร้าย จากความเหลื่อมล้ำ ของระดับชนชั้นของซามูไร ซึ่งเป็นประสบการณ์ ที่ตัวเขาเองได้พบเห็น และถูกกระทำมาตั้งแต่วัยเด็ก) เขาตระหนักว่า สักวันถ้าจะต้องแข่งขัน เรื่องความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ในทางอุตสาหกรรมกับโลกภายนอก ชาวญี่ปุ่นจำเป็นต้องปรับตัว ให้ทันสมัยอย่างชาวตะวันตก ให้ได้มากที่สุด
ซะกะโมะโตะ เรียวมะ (ญี่ปุ่น : 坂本龍馬 さかもと りょうま , 3 มกราคม ค.ศ. 1836 – 10 ธันวาคม ค.ศ. 1867) เป็นซามูไร ผู้นึงที่มีบทบาทสำคัญ ในการเคลื่อนไหวล้มล้าง ระบอบการปกครองของรัฐบาลโชกุนโทะกุงะวะ ในช่วงยุคบะคุมะสึ (ปลายยุคเอโดะ) เพื่อสร้างความเสมอภาค ในสังคมญี่ปุ่น และ ปฏิรูปประเทศ ให้ไปสู่ความทันสมัย ตามอย่างชาติยุโรปตะวันตก เขาเป็นลูกศิษย์ของ คะสึ ไคชู ผู้วางรากฐานแห่งกองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่น และยังเป็นผู้ก่อตั้ง ไคเอ็นไต ที่เป็นบริษัทพาณิชย์นาวีแห่งแรกของประเทศญี่ปุ่น อีกด้วย
เรียวมะ เสียชีวิตด้วยวัยเพียง 31 ปี จากการถูกลอบสังหาร เมื่อ ค.ศ. 1867 ที่ร้านโอมิยะ ในเมืองเกียวโตเหตุการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้นก่อนหน้าการปฏิรูปเมจิไม่นานนัก รายงานการสอบสวนในชั้นต้น กล่าวหาว่า เหตุการฆาตกรรมเป็นฝีมือของ กลุ่มชินเซ็งงุมิ (ภายหลัง คนโด อิซะมิ ผู้นำของ ชินเซ็งงุมิ ที่พ่ายแพ้แก่ ฝ่ายซัตสึมะ และ โจชู ในนามกองทัพของพระจักรพรรดิ ได้ถูกจับเป็นเชลยและถูกประหารชีวิต ด้วยข้อกล่าวหานี้) แต่ทว่ากลุ่มที่สนับสนุนโชกุน อีกกลุ่มหนึ่ง คือ กลุ่มมิมะวะริงุมิ ของ อิมะอิ โนะบุโอะ ได้สารภาพในปี ค.ศ. 1870 ว่า เป็นผู้ลงมือก่อเหตุดังกล่าว แม้ว่าซะซะกิ ทะดะซะบุโร และ อิมะอิ โนะบุโอะ จะเป็นผู้ที่ถูกประณามจากเรื่องนี้ แต่ก็ไม่ได้มีการพิสูจน์สอบสวนในกระบวนการยุติธรรม ว่าฆาตกรที่แท้จริงเป็นใครกันแน่
———— DATA – https://en.wikipedia.org/wiki/Sakamoto_Ryoma ————
———— photo credit – https://en.wikipedia.org ————
…………………………………………………………………………….