ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับ PM 2.5 : ตอน มาตรฐานในการประเมิน PM 2.5
ที่กำลังเป็นเรื่องในโลกโซเชียลว่าไทยปรับค่ามาตรฐานต่ำกว่า มาตราฐานสากล
======================================================================================================================================================
ยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่แพร่หลายในโลกออนไลน์ หลังจากเกิดปรากฏการณ์ ฝุ่นจิ๋วโจมตีประเทศไทย ตั้งแต่กลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา ข่าวสารต่างๆจากทั้งสื่อหลัก สื่อรอง สื่อไม่มีหัวนอนปลายเท้า แน่นเต็มฟีดไปหมด มีทั้งจริง ทั้งเท็จ และ กึ่งจริงกึ่งเท็จ ทำให้ผู้เสพข่าว มีอาการหลงทาง เพราะไม่แน่ใจว่าข้อมูลอันไหน เชื่อถือได้มากกว่ากัน ที่มั่วที่สุดก็คือ มีการกล่าวอ้างว่า.. กรมควบคุมมลพิษของประเทศไทย นั้นกำหนดค่ามาตรฐาน PM 2.5 ไว้ต่ำกว่า “มาตรฐานสากล” จากที่ทั่วโลกเขาใช้กัน โดยอ้างว่าค่ามาตรฐานของ องค์กรอนามัยโลกนั้น อยู่ที่ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในขณะที่ประเทศไทย กำหนดค่าไว้ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ..ซึ่งไม่ใช่ความเป็นความจริงแต่อย่างใด
แนวทางการปฏิบัติในเรื่องคุณภาพอากาศของ องค์การอนามัยโลก ฉบับปรับปรุงเมื่อปี ค.ศ. 2005 ได้มีการกำหนดให้ค่ามาตรฐานแบ่งออกเป็น 3 ช่วง (Tier) เพื่อให้ประเทศต่างๆได้มีหลักในการปรับตัวเป็นลำดับขั้น
ในขณะเดียวกัน การวัดค่าฝุ่นละอองขนาด PM 2.5 และขนาด PM 10 ก็ยังถูกแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ก็คือ การวัดค่าเป็นรายวัน (24 ชม.) และ การวัดค่าเป็นรายปี ซึ่งทั้งสองรูปแบบนั้น .ก็มีค่ามาตรฐานต่างกันออกไป
Tier 1 : รายปีจะมีตัวเลขอยู่ที่ 35.00 / และในส่วนของรายวันอยู่ที่ 75.00
Tier 2 : รายปีจะมีตัวเลขอยู่ที่ 25.00 / และในส่วนของรายวันอยู่ที่ 50.00
Tier 3 : รายปีจะมีตัวเลขอยู่ที่ 15.00 / และในส่วนของรายวันอยู่ที่ 37.50
จากประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 23 ปี พ.ศ. 2553 ใช้ค่ามาตรฐานที่ Tier 2 คือ รายวันอยู่ที่ 50 และรายปีอยู่ที่ 25 หากเมื่อไรที่ตัวเลขค่า PM 2.5 ของค่าเฉลี่ยรายวันและรายปีเกินนี้ .จะถือว่าเริ่มจะมีความเสี่ยงได้ในระยะยาว
ขออนุญาตหยิบยกตัวอย่างจากภูมิภาคอื่นเพื่อเปรียบเทียบ เช่นประเทศอังกฤษ และ แถบสหภาพยุโรป ที่มีค่ามาตรฐานรายปีอยู่ที่ 25 ซึ่งมีค่าเท่ากันกับของประเทศไทย แต่เขาไม่วัดค่ารายวัน เนื่องจากประเทศของเขาพิจารณาว่าค่าฝุ่น PM 2.5 จะส่งผลระยะยาว มากกว่าระยะเฉียบพลัน. จึงเน้นไปที่ การประเมินรายปี
(ต่างกับก๊าซโอโซน หรือ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ .ที่ส่งผลรุนแรงอย่างเฉียบพลัน แต่คนกลับไม่ค่อยกังวลกัน)
จนมาถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลายๆคนเริ่มรู้ข้อมูลที่ถูกต้องว่า PM 2.5 ใน กทม. นั้นมาจากการเผาไหม้ โดยมีแหล่งจาก ท่อไอเสียรถยนต์เป็นอันดับหนึ่ง และการเผาในที่แจ้งตามมาเป็นอันดับสอง ส่วนเรื่องโรงงานอุตสาหกรรมหนักหรือประเภทถ่านหินนั้น.กทม.ไม่มีอยู่แล้ว หรือถึงจะมี.ก็มีตามชานเมืองซึ่งน้อยมาก
ถึงจะอย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ก็ยังคงเป็นปัญหาในระยะยาว ที่ต้องกลับมาพบเจออีก เมื่อสภาพภูมิอากาศปิดในช่วงเดือน ม.ค. – ก.พ. ดังนั้น การสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อเตรียมปรับตัวรับมือ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด
======================================================================================================================================================