“แม้พิชิตโลกได้ก็ยังไม่สุขเท่าเมตตา” ในเมตตาภาวสูตร กล่าวไว้ ดังนี้
“.. ราชฤษีเหล่าใดชนะแผ่นดิน ๗ ทวีป ท่องเที่ยวบูชายัญ อัสสเมธะ ปริสเมธะ สัมมาปาสะ วาชเปยยะ และนิรัคคฬะ ราชฤษีเหล่านั้นไม่ได้เสวยแม้แต่เสี้ยวที่ ๑๖ แห่งเมตตาจิตที่อบรมดีแล้ว. ถ้าบุคคลมีจิตไม่คิดร้ายสัตว์แม้แต่ตัวเดียว ประพฤติเมตตา ย่อมเป็นผู้ฉลาดด้วยจิตนั้น อริยชนมีใจเอ็นดูสัตว์มีชีวิตทุกหมู่เหล่า ชื่อว่าประกอบบุญเป็นอันมาก…”
อธิบายว่า
ราชันผู้ออกบวชเป็นฤษี แม้จะประกอบพิธีกรรมเพื่อประกาศความเป็นใหญ่ในทั้ง ๗ ทวีป เช่น การประกอบพิธีอัสสเมธะ เป็นต้น ซึ่งเป็นการประกอบพิธีบวงสรวงด้วยการฆ่าสัตว์มากมายเหลือคณานับ และพิธีการที่หาแก่นสารมิได้ แม้ราชฤษีผู้นั้นจะประกอบพิธีเหล่านี้ ก็หาได้บุญเท่าสักเสี้ยว ๑ ใน ๑๖ ส่วนของการเจริญเมตตา
คำว่า ๑ ใน ๑๖ ส่วนเป็นอุปมา หมายถึงน้อยมากๆ เพื่อตอกย้ำว่า การประกอบพิธีที่ต้องฆ่าสัตว์ตัดชีวิตหาได้มีบุญไม่ ถึงจะมีเจตนาสร้างกุศล ก็เป็นกุศลที่แปดเปื้อนบาป ดังเช่น ผู้ที่เชือดสัตว์ สั่งฆ่าสัตว์ในงานบุญงานบวช ก็เหมือนกับพวกราชฤษี ทำยัญกรรมต่างๆ แม้จะหวังได้บุญ ก็หาได้บุญตามที่หวังไม่ ทั้งยังจะได้บาปกรรมมหาศาล
ตรงกันข้าม การไม่เบียดเบียนสัตว์ และ ทำจิตให้เป็นมิตรไมตรีอยู่เป็นนิจ รักใคร่สรรพชีวิต เฉกเช่นตนรักตนเอง ไม่เพียงไม่เสียเงินทองไปกับการฆ่าสัตว์เพื่อหวังบุญที่เปื้อนบาป แต่กลับจะได้บุญบริสุทธิ์ที่มากมายมหาศาล
Data : www.facebook.com/buddhisttreasure/ << CREDIT >> Photo : goodview1.wordpress.com