สูตรสำเร็จในการเป็นหนี้ที่ดีนั้นก็คือ เป็ํนหนี้เท่าที่จำเป็น เป็นหนี้เท่าที่จ่ายไหว และที่สำคัญที่สุด เป็นหนี้แล้วต้องจ่าย ซึ่งอันที่จริงก็เป็นหลักเกณฑ์ทั่วไปของผู้มีสามัญสำนึกอันดี แต่การเป็นลูกหนี้ ก็ยังมีกฏหมายคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 แม้อำนาจของเจ้าหนี้ จะมีสิทธิ์ทวงเงินคืน หรือ สามารถแต่งตั้งตัวแทน เพื่อช่วยติดตามการชำระหนี้ได้ แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้กรอบที่กฏหมายกำหนด เรามาดูข้อควรระวังกัน ว่ามีอะไรทำได้บ้าง หรือมีอะไรทำไม่ได้บ้าง
ห้ามทวงถามหนี้กับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ลูกหนี้ รวมไปถึง ห้ามเปิดเผยข้อมูล ของการเป็นหนี้ของลูกหนี้ ให้ผู้อื่นได้รับทราบ.ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม.เว้นเสียแต่ว่า เป็นบุคคลซึ่งลูกหนี้ระบุเอาไว้ตามข้อตกลง
กรณีเป็นผู้รับมอบอำนาจให้ดำเนินการทวงหนี้ อันดับแรก จะต้องแสดงตัวตนต่อลูกหนี้ให้รับทราบ โดยแจ้งชื่อนามสกุล พร้อมชื่อหน่วยงานของตนเองและชื่อของเจ้าหนี้ รวมทั้งจำนวนหนี้ และถ้าเป็นการทวงหนี้ต่อหน้า จำเป็นจะต้องแสดงหลักฐานเอกสารต่างๆ ของหนังสือมอบอำนาจ เพื่อที่จะติดตามทวงถามหนี้ด้วย
กรณีของการทวงหนี้ และ ขอรับชำระหนี้ ในกรณีเช่นนี้ ผู้ติดตามจำต้องแสดงหลักฐาน หรือ เอกสารต่างๆ ในการที่ได้รับมอบอำนาจมา เพื่อให้รับชำระหนี้ และ.เมื่อลูกหนี้ชำระหนี้แล้ว ต้องออกหลักฐานให้ด้วย
ให้ติดต่อกับลูกหนี้ตามสถานที่ที่ระบุไว้เท่านั้น หากผู้ติดตามไม่สามารถติดต่อลูกหนี้ได้ ก็สามารถติดต่อไปตามภูมิลำเนา หรือ สถานที่พักอาศัย หรือ สถานที่ทำงานของลูกหนี้ได้ ในช่วงวันจันทร์ ถึง วันศุกร์ เวลา 08.00 – 20.00 น. หรือวันหยุดราชการ เวลา 08.00 – 18.00 น. ซึ่งต้องติดต่อในจำนวนครั้งที่เหมาะสมด้วย
ห้ามติดต่อลูกหนี้โดยวิธีที่สื่อให้ทราบว่าเป็นการทวงหนี้ เช่น ใช้ไปรษณียบัตร เอกสารเปิดผนึก โทรสาร หรือ สิ่งอื่นใดที่สื่อว่าเป็นการทวงหนี้อย่างชัดเจน รวมทั้งการใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือ ชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้ บนซองจดหมายที่ทำให้เข้าใจได้ว่า เป็นการติดต่อเพื่อการทวงถามหนี้
ห้ามข่มขู่ คุกคาม ดูหมิ่นฯ ใช้ความรุนแรง ที่ก่อให้เกิดความเสียหาย แก่ร่างกาย ชื่อเสียง และ ทรัพย์สิน
ห้ามทวงถามหนี้ในลักษณะที่เป็นเท็จ หรือ ทำให้เกิดความเข้าใจผิด เช่น ใช้สัญลักษณ์อะไรก็ตาม ที่ทำให้ลูกหนี้เกิดความเข้าใจผิดว่า เป็นการกระทำจากทางศาล หน่วยงานของรัฐฯ สำนักงานกฎหมาย หรือ บริษัทข้อมูลเครดิต และ ห้ามมิให้แสดงข้อความ ที่ทำให้เชื่อว่า.. จะถูกดำเนินคดีหรือถูกยึดหรืออายัดทรัพย์
ห้ามทวงหนี้ในลักษณะที่ไม่เป็นธรรม เช่น เรียกเก็บค่าธรรมเนียม หรือ ค่าใช้จ่ายเกินกว่าอัตรากฎหมายได้กำหนดเอาไว้ หรือการพยายามชักจูง ให้ลูกหนี้ออกเช็คเพื่อสั่งจ่าย ทั้งที่รู้อยู่ว่าลูกหนี้ไม่สามารถชำระได้
หากผู้ทวงหนี้ ได้ปฏิบัติขัดต่อพระราชบัญญัตินี้ หรือ มีลูกหนี้ไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถร้องเรียนได้ที่หน่วยงานต่างๆดังต่อไปนี้ 1) กรมการปกครอง 2) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง 3) สถานีตำรวจ 4) ที่ทำการปกครองในจังหวัด 5) กองบัญชาการตำรวจนครบาล 6) ที่ว่าการอำเภอ.เป็นต้น
======================================================================================================================================================
>>>>> www.1213.or.th/ << data << CREDIT >> photo >> http://www.thecommentator.com <<<<<