ถนนลูกคลื่นที่อยู่ในเขตเทศบาลของ นครฉงชิ่ง ได้ถูกออกแบบและจัดการให้อยู่ร่วมกับสภาพภูมิประเทศแบบดั้งเดิมด้วยความกลมกลืน จากการปรับสิ่งปลูกสร้าง ให้กระทบสภาพแวดล้อมน้อยที่สุด ตลอดความยาว 300เมตร ของถนนเส้นนี้ มันดึงดูดสายตาผู้สัญจรเป็นอย่างมาก จนเรียกได้ว่า เป็นแลนด์มาร์กของเมือง
นครฉงชิ่ง เป็นเขตเทศบาลนคร ตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน มีแม่น้ำแยงซีเกียงอยู่ทางตอนล่าง โดยรอบมีพื้นที่ติดกับ มณฑลหูเป่ย์ หูหนัน กุ้ยโจว เสฉวน และ ส่านซี ภายในเมืองมีแม่น้ำไหลพาดผ่านอยู่หลายสาย เป็นเมืองขนาดใหญ่อันดับ 8 ของประเทศจีน มีเนื้อที่กว่า 80,000 ตร.กม. คนส่วนใหญ่เป็นจีนฮั่น
ภูมิประเทศของฉงชิ่ง มีลักษณะเป็นพื้นที่สูง โดยมากแล้ว จะเป็นภูเขาและเนินเขาเป็นหลัก อาณาบริเวณบางส่วนมีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ ในปัจจุบันถือได้ว่าเป็นบริเวณสำคัญของรัฐบาลจีน ในการดำเนินแผนการ “เกรท เวสท์ ดีเวลอปเมนท์” ที่กำลังเร่งพัฒนาด้านเศรษฐกิจในภูมิภาคตอนกลาง และภูมิภาคฝั่งตะวันตก
แนวคิดเชิงอนุรักษ์ในการออกแบบ วางแผนผัง ปลูกสร้างถนนหนทาง เพื่อที่จะขยายพื้นที่เศรษฐกิจ โดยให้ทรัพยากรเดิมเสียหายน้อยที่สุดนี้ เป็นเรื่องที่ต้องทำการบ้านอย่างหนักจากหลายๆฝ่าย ทั้งภาครัฐ และ ภาคเอกชน เพื่อหลีกเลี่ยงการทุบทำลายที่เกินจำเป็น เช่น ในบางช่วงที่มีพื้นที่ต่างระดับกันมาก ก็จะเปิดช่องจราจรแล้วก่อสร้างเส้นทางเข้าออก โดยใช้เชื่อมต่อระหว่าง ตัวอาคารและถนน ซึ่งเป็นการจัดการที่ดูลงตัว และชาญฉลาด ผมหวังว่าแรงบันดาลใจนี้ จะเป็นต้นแบบและตัวอย่างอันดีให้กับคนรุ่นต่อไป ..ขอคารวะครับ
—————————————————- CREDIT —————————————————-
http://www.wikipedia.org/
http://www.chinanews.com/
http://www.thaiembassy.org/chengdu/
———————————————————————————————————————