ทำเนียบรัฐบาล / ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 11 กันยายน 2561 ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) นำคณะผู้จัดงาน ดิจิทัลไทยแลนด์บิ๊กแบง เข้าพบพล.อ.ประยุทธ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อประชาสัมพันธ์งาน “Digital Thailand Big Bang 2018” โดยได้นำเสนอกิจกรรมใน 3 โซน ได้แก่ 1) โลกเสมือน 3D visualization เมืองอัจฉริยะและดิจิทัลพาร์คเพื่อให้ผู้เข้าชมได้เรียนรู้การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้เพื่อการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืน มีโซนให้ทุกคนได้ท่องเที่ยวชมดิจิทัลพาร์คผ่านเทคโนโลยีโลกเสมือนจริง : VR 2) ความสำเร็จของระบบการศึกษาที่ใช้วัฒนธรรมไทยในการก้าวสู่ตลาดโลก มวยไทย ไอกล้า แอพพลิเคชั่นเพื่อการเรียนรู้ศิลปะการต่อสู้มวยไทยบนโลกดิจิทัล ที่ใช้สอนคนทั่วโลกแล้วกว่า 130 ประเทศ สู่การเป็นนักกีฬามืออาชีพ สามารถทำให้มวยไทยกลายเป็นทรัพย์สินทางปัญญาประจำชาติ และเพิ่มมูลค่าให้กับ วัฒนธรรมที่มีชื่อเสียงของชาติ 3) เทคโนโลยีนวัตกรรมดิจิทัลฝีมือคนไทยครั้งแรกในไทย 3D Face recognition จุดเริ่มต้นของการตรวจพิสูจน์การมีตัวตน และจุดเริ่มต้นของการต่อยอดเทคโนโลยีก่อกำเนิดในยุค 2020
โดยนายกรัฐมนตรีฝาก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เร่งจดสิทธิบัตรเทคโนโลยีดิจิทัลภูมิปัญญาไทย เพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมไทยไปสู่ต่างประเทศในรูปแบบแอนนิเมชั่น นอกจากนี้ยังให้นำนวัตกรรมดิจิทัลไปออกแบบผังเมืองเพื่อยกระดับเมืองเดิมให้เป็นเมืองอัจฉริยะจริง ๆ ส่วนเทคโนโลยีการพิสูจน์การมีตัวตนนั้นขอให้ต่อยอดเป็นฮาร์ดแวร์เพื่อนำไปสู่อุตสาหกรรมต่อไป
โดยทั้ง 3 โซนที่นำเสนอนายกรัฐมนตรีในวันนี้ เป็นส่วนหนึ่งของงานมหกรรมดิจิทัลระดับนานาชาติ Digital Thailand Big Bang 2018 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-23 กันยายน 2561 ณ อิมแพคชาเลนเจอร์ ฮอล 1-3 เมืองทองธานี
ด้านดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ กล่าวว่า งาน Digital Thailand Big Bang 2018 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “THAILAND BIG DATA | โลกเปิด เราปรับ ประเทศเปลี่ยน” เป็นการประกาศจุดยืนและความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่จะใช้เทคโนโลยีดิจิทัลนี้เพื่อการขับเคลื่อนสู่ ไทยแลนด์ 4.0 งานนี้จะทำให้ทุกคนได้พบกับการเปลี่ยนแปลงของประเทศใน 8 ด้านหลัก ได้แก่ 1) สัมผัสนวัตกรรม Cloud computing ที่เชื่อมโยงโลกทั้งใบอย่างไร้ขีดจำ 2) การพัฒนาโครงสร้าง พื้นฐานที่จะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางข้อมูลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในระดับภูมิภาค ที่เชื่อมโยงไปทั่วโลกผ่านดิจิทัลเทคโนโลยี อาทิ ระบบเคเบิลใยแก้วนำแสงใต้น้ำ (Submarine Cable) และดวงดาวอัจฉริยะหรือดาวเทียม เป็นต้น 3) มิติของการเปลี่ยนแปลงข้อมูลขนาดใหญ่ ที่นำไปใช้ประโยชน์และมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ 4) พบเทคโนโลยีแห่งอนาคต ทั้งเทคโนโลยีใหม่ เทคโนโลยีก่อกำเนิด (Emerging Technology) และนวัตกรรม ดิจิทัลจากเหล่า digital innovator กว่า 800 ราย 5) พบโอกาสมหาศาลในโลกแห่งข้อมูลไร้พรมแดนที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่กับบล็อคเชน ที่ไม่ใช่ดิจิทัลเฉพาะโลกการเงินแต่คือดิจิทัลสำหรับทุกคน 6) การศึกษา ระบบใหม่ ให้คนไทยก้าวเท่าทันการเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่ coding ถึงระดับ advance อย่างเท่าเทียมและทั่วถึง 7) ก้าวล้ำสู่อีกขั้นของ 7 เมืองอัจฉริยะ กับการเตรียมพร้อมรองรับเป็นเจ้าภาพระดับอาเซียน ปี 2019 และ 8) มหกรรม การแข่งขันระดับเยาวชน ที่มีเด็กๆ ตบเท้าเข้าร่วมกว่า 5,000 คน เพื่อแสดงความสามารถทางด้านดิจิทัลเทคโนโลยี ในการแข่งขันหุ่นยนต์ การแข่งขันบินโดรน การแข่งขันออกแบบภาษาคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
“งานนี้นับเป็นมหกรรมดิจิทัลระดับนานาชาติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีพันธมิตรจาก 7 ประเทศ กว่า 100 หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ร่วมนำเสนอนวัตกรรมเทคโนโลยีล้ำสมัยหลากหลาย สาขา เพื่อให้ทุกคนได้สัมผัสประสบการณ์ตื่นตาตื่นใจ และเข้าใจถึงประโยชน์ ความสะดวกสบาย และโอกาสใหม่ๆ ทาง ธุรกิจ รวมถึงคุณภาพชีวิตที่จะเกิดขึ้นจากการเข้าใจและใช้บิ๊กดาต้าอันจะส่งผลขับเคลื่อนการพัฒนาในทุกภาคส่วน