สำหรับบทความอันนี้ ตัวผมเองได้คัดลอกเนื้อหาทั้งหมดมาจาก อ. วสิน อุ่นจะนำ ซึ่งเป็นผู้เรียบเรียงลงใน เพจ ผ้าและสิ่งถักทอไท ผมคิดเห็นว่า นอกจากจะให้สาระและองค์ความรู้ ในด้านของหัตถกรรมพื้นบ้านของประเทศเราแล้ว ยังสามารถนำมาพัฒนาต่อยอดได้อีก แถมยังสร้างอาชีพไปสู่ชุมชน ซึ่งเป็นการกระจายเม็ดเงินให้หมุนเวียนในประเทศ และถ้าหากรับการสนับสนุนที่ดีจากภาครัฐ คงจะไปสู้กับระดับโลกได้อย่างสบาย การเผยแพร่บทความนี้ ผมหวังเอาไว้ว่าเยาวชนคนรุ่นใหม่จะหันหลังกลับมา สนใจใส่ใจและหวงแหน วัฒนธรรมท้องถิ่น ที่บรรพบุรุษส่งต่อมาไม่ให้สูญสิ้นไป และยังเป็นการสร้างค่านิยม ให้ผู้บริโภคชาวไทยได้กลับมาสนับสนุน ‘งานหัตถกรรมของช่างทอผ้าของไทย’ ซึ่งมีความงดงามแตกต่างกันไป ตามแต่ละท้องถิ่น
ในปัจจุบันนี้ การทอผ้าพื้นบ้านพื้นเมืองหลายๆแห่ง ยังมีการทอลวดลาย และสัญลักษณ์ดั้งเดิม โดยเฉพาะตามชุมชน ที่มีเชื้อสายชาติพันธุ์บางกลุ่ม ที่กระจายตัวกันอยู่ในภาคต่างๆของประเทศไทย ศิลปะการทอผ้าของกลุ่มชนเหล่านี้ จึงนับว่าเป็นเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่มอยู่จนถึงทุกวันนี้ หากจะแบ่งผ้าพื้นเมืองของกลุ่มชนดังกล่าว ตามภูมิภาคต่างๆของประเทศไทยเราแล้ว เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นก็อาจจะแบ่งคร่าวๆ ได้ดังนี้
………………………………………………………………………………………………………………
1. ผ้าในภาคเหนือ หรือดินแดนล้านนา ใน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ที่ประกอบด้วยจังหวัดเชียงราย พะเยา ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน โดยเฉพาะในกลุ่มชาวไทโยนก หรือไทยวน
และชาวไทลื้อ ซึ่งเป็นกลุ่มชนดั้งเดิมของล้านนาไทย ยังคงความเชื่อ ในการทอผ้าแบบดั้งเดิมหนาแน่น
โดยเฉพาะผู้หญิงชาวไทยวนหรือคนเมือง ยังคงทอผ้าซิ่นตีนจก ซึ่งมีแหล่งทอที่มีชื่อเสียงได้แก่ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ และ อำเภอลอง จังหวัดแพร่ ส่วนชาวไทลื้อในปัจจุบัน ก็ยังคงรักษาวัฒนธรรม
การทอผ้าในรูปแบบและลวดลายที่สืบทอดกันมา โดยในผ้าซิ่นจะมีลวดลายทั้งเทคนิคจก เกาะ และขิด
แต่เทคนิคและเอกลักษณ์อันสำคัญที่ทำให้ได้รู้จักกันโดยทั่วไปของกลุ่มไทลื้อ โดยสร้างชื่อเสียง ก็คือ
เทคนิคของการเกาะ ให้ผ้ามีลวดลายซิกแซก หรือที่เรียกว่า “ลายน้ำไหล” มีแหล่งทอที่มีชื่อเสียง เช่น
อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย และอำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน เป็นต้น
………………………………………………………………………………………………………………
2. ผ้าในภาคกลาง (เขตภาคกลางตอนบน) อันประกอบไปด้วย. จังหวัดพิษณุโลก พิจิตร อุตรดิตถ์ และสุโขทัย ส่วนภาคกลางตอนล่างก็จะมี จังหวัดอุทัยธานี ชัยนาท สุพรรณบุรี สระบุรี ลพบุรี นครปฐม ราชบุรี และ เพชรบุรี มีกลุ่มชนชาวไทยวนและชาวไทลาวอพยพไปตั้งถิ่นฐานอยู่ พวกไทลาวนั้นมีหลายเผ่า เช่น พวน โซ่ง ผู้ไท ครั่ง ฯลฯ ซึ่งอพยพเข้ามาเพราะมีสงคราม และกวาดต้อนผู้คนเหล่านั้นเข้ามา ชาวไทยวน
และไทลาวเหล่านี้ ยังรักษาวัฒนธรรมและเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นไว้ โดยเฉพาะวัฒนธรรมทอผ้าของผู้หญิง
ที่ใช้เทคนิคจก ในการทำตีนจกและการขิดเพื่อตกแต่งเป็นลวดลายบนผ้าที่ใช้นุ่งในเทศกาลต่างๆหรือใช้
ทำเครื่องนอน เช่น หมอน ผ้าห่ม ผ้าเช็ดหน้า ผ้าขาวม้า ฯลฯ แม้ว่าในปัจจุบันนี้สภาพเศรษฐกิจและสังคมเปลี่ยนไปมาก คนไทยเหล่านี้ ก็ยังยึดอาชีพทอผ้าเป็นอาชีพรองต่อจากการทำนาซึ่งเป็นอาชีพหลัก เช่นเดียวกันกับ ผ้าในภาคเหนือ ลวดลายที่ตกแต่งบนผืนผ้า .ที่ทอโดยกลุ่มชนต่างเผ่ากัน ในภาคกลางนี้ ก็มีลักษณะและสีสันแตกต่างกัน. ผู้ศึกษาที่คุ้นเคย จึงจะสามารถระบุแหล่งที่ผลิตผ้า จากลวดลายและสี ได้
………………………………………………………………………………………………………………
3. ผ้าในภาคอีสาน แถบภาคอีสานของเรา มีชุมชนตั้งถิ่นฐานโดยอาศัยบริเวณที่มีความอุดมสมบูรณ์จากลำห้วย หนองบึง หรือแม่น้ำ กลุ่มคนไทยเชื้อสายลาว เป็นชนกลุ่มใหญ่ของภาคอีสานที่กระจายกันอยู่ตามจังหวัดต่างๆ และมีวัฒนธรรมการทอผ้า อันเป็นประเพณีของผู้หญิง ที่สืบทอดกันมาช้านานเกือบทุกชุมชน แต่ละกลุ่มแต่ละเผ่า ก็จะมีลักษณะและลวดลายการทอผ้า ที่แปลกเป็นของตัวเองอย่างชัดเจน โดยเฉพาะผ้าทอที่มีชื่อเสียงของอีสานคือ การทำผ้าไหมมัดหมี่ เพื่อใช้เป็นผ้าถุง หรือผ้าขิดที่งดงาม ก็คือ ผ้าแพรวา
ซึ่งแต่เดิมนั้น ใช้เป็นผ้าเบี่ยง หรือ ผ้าสไบ แต่ปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนให้สามารถนำไปตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าได้
………………………………………………………………………………………………………………
4. ผ้าในภาคใต้ ภาคใต้มีแหล่งทอผ้าที่มีชื่อเสียงหลายๆแห่ง โดยเฉพาะ แหล่งทอผ้ายกดิ้นเงินดิ้นทอง
ซึ่งสันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลจากชาวมุสลิม ชาวอาหรับ ที่มาค้าขายตั้งแต่สมัยโบราณ และต่อมา ผ้ายกเงินยกทอง ได้กลายเป็นที่นิยม ในหมู่ชนชั้นสูง ของอาณาจักรไทยในภาคกลาง บรรดาพวกเจ้าเมืองและข้าราชการหัวเมืองทางภาคใต้ จึงต่างสนับสนุนให้ลูกหลานและชาวบ้านทอกันเป็นล่ำเป็นสัน โดยเฉพาะ
ที่เมืองนครศรีธรรมราช เมืองสงขลา และ ที่ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ล้วนเคยเป็นแหล่งทอผ้าที่มีชื่อเสียงมากในอดีต จนเป็นที่กล่าวขวัญถึง แล้วก็นิยมกันมากในหมู่ขุนนางกรุงศรีอยุธยา
เรื่อยมาถึงในยุคกรุงธนบุรี และสืบมาถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ในปัจจุบันนี้ผ้ายกเมืองนคร ได้มีผู้บริจาคให้แก่
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จ.นครศรีธรรมราช ทั้งนี้.ได้มีการจัดแสดงเอาไว้. ให้ประชาชนได้ไปชื่นชมกัน
ในห้องผ้าของพิพิธภัณฑ์จำนวนมาก แต่ปัจจุบัน ช่างทอที่มีชื่อเสียงนั้น ได้เสียชีวิตไปแล้วเป็นส่วนใหญ่
และมีผู้ที่ได้สืบทอดความรู้ไว้นั้น มีน้อยมาก จึงไม่มีการทอกันเป็นล่ำเป็นสันเหมือนอย่างในสมัยโบราณ
………………………………………………………………………………………………………………
all credit > www.facebook.com/notes/ผ้าและสิ่งถักทอไท/ผ้าพื้นเมืองในแต่ละภาคของไทย/
……………………………………………………………………………………………………….……..……